Discoverธรรมละนิด
ธรรมละนิด
Claim Ownership

ธรรมละนิด

Author: พระอาจารย์ชยสาโร

Subscribed: 8Played: 27
Share

Description

ธรรมละนิด
81 Episodes
Reverse
พระอาจารย์มีความเห็นเกี่ยวกับ ‘การุณยฆาต’ อย่างไร หากมนุษย์คนหนึ่งใช้ชีวิตมาอย่างเต็มที่แล้ว พอใจในชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองมาก และพอใจที่จะมีอายุขัยแค่อายุ ๖๐ ปี ไม่ได้ป่วยร้ายแรง ไม่ได้มีอาการซึมเศร้า ทำไมการทำ ‘การุณยฆาต’ ถึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควร หากการมีอายุที่มากขึ้นคือการทรมาน สังขารอาจเสื่อมลงกว่านี้? ข้อแรก ก็ไม่เห็นด้วยกับการขโมยคำว่า “กรุณา” ใช้ในการฆ่าคน ก็แปลไม่ดี คือมันแปลแบบไม่ยุติธรรม มันกลับเป็นการบอกอยู่ในตัวว่าเป็นสิ่งที่ดี พอฟังว่า “กรุณา” โอ้...ฆ่าด้วยความกรุณามันอาจจะดี แต่เราไม่ถือว่าเป็นความกรุณา การที่มองชีวิตเหมือนเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ว่า ใช้ได้พอสมควรแล้ว อยากทิ้งแล้ว ใช้แล้วทิ้งนี่นะ ก็เป็นมุมมองต่อชีวิตที่อาตมาไม่เห็นด้วย การุณยฆาตมันจะมีเหตุผลบ้างถ้าเชื่อว่า ‘ตายแล้วสูญ’ แต่เราถือว่าผู้ที่ค้นคว้าในเรื่องจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้งที่สุด เป็นแบบนักค้นคว้า นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ คือพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย ซึ่งยืนยันในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด อายุหกสิบแล้ว ตายแล้วนี่จะไปไหน รับรองตัวเองได้ไหม มั่นใจว่ามันจะไปที่ดีไหม ถ้าคิดว่าปิดสวิตซ์หมดเรื่อง ก็อาจจะโอเคนะ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น จะอย่างไรไหม แล้วมั่นใจไหมว่าจะดับสูญ ด้วยเหตุผลอะไร เหมือนเราจะอยากรู้เรื่อง สมมติว่าอยากรู้เรื่องควอนตัมฟิสิกส์อย่างนี้ เราจะไปขอความรู้จากเด็กนักเรียน ม.สาม หรือจากศาสตราจารย์ที่ฮาร์วาร์ด คิดว่าถ้าเป็นไปได้นะ ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ด ฉะนั้นอยากรู้ว่าตายแล้วไปไหนก็ไปศึกษาคำสอนพระพุทธเจ้า ก็เป็นผู้รู้ในเรื่องนี้ดีที่สุด หรือถ้าอย่างน้อย สมมติว่าเราบอกว่าไม่เชื่ออาจารย์ทางฮาร์วาร์ด ศาสตราจารย์ เชื่อเด็ก ม.สาม ก็เป็นสิทธิที่จะตัดสินอย่างนั้น แต่ในขณะเดียวกันคิดว่า ถ้าปฏิเสธว่าอาจารย์ ศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดนี่ไม่รู้เรื่องเลย เป็นคนงมงาย อาตมาว่านี่มันกล้าเกินไปนะ มันไม่ฉลาด การที่มองชีวิตเหมือนเป็นสิ่งที่...ก็มีความสุขเมื่อไร ก็อยู่ไป หมดความสุขแล้วก็ให้ดับ ให้ปิดสวิตซ์ แล้วต่อมาสมมติว่าคนห้าสิบก็รู้สึกอย่างนั้น หรือว่ามีลูก ลูกก็จบปริญญาตรีแล้ว รู้สึกชีวิตเราสมบูรณ์นะ ได้ปริญญา ปริญญาตรี ปริญญาโทเกียรตินิยม จากนี้ชีวิตก็คงไม่มีอะไรดีกว่านี้ จบตรงนี้แบบ end on high จากนี้ชีวิตก็คงไม่มีอะไรสนุก หรือว่า อกหักแล้วคงไม่มีอีกแล้ว พอไม่มีคนนี้แล้ว ไม่รู้จะอยู่ทำไมแล้ว ชีวิตไม่มีค่าแล้ว คือเหตุผลอยากฆ่าตัวตายหรือที่จะดับชีวิตสำหรับคนที่เชื่อว่าตายแล้วสูญ มันมีมาก ส่วนที่อาตมาเป็นห่วงโดยเฉพาะในสังคมไทยที่กำลังเป็นสังคมคนสูงอายุ ซึ่งในอนาคตเราก็จะลำบากมากในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มๆ จะมี ก็มีอยู่แล้วที่ผู้สูงอายุรู้สึกเป็นภาระกับลูกหลาน อู้ว...ลูกหลานต้องเสียค่ารักษาพยาบาล โอ...เราตายดีกว่า จะได้ไม่เป็นภาระ ก็จะนำไปสู่กระแสสังคมว่า ถ้าผู้สูงอายุรักลูกรักหลานจริงๆ แล้วไม่อยากเป็นภาระกับเขา ให้ตายดีกว่า อันนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้นะ ในต่อไป ถ้าเราทิ้งหลักเรื่องความเวียนว่ายตายเกิด ในหลักการเห็นคุณค่าของชีวิต ในการดูแลชีวิต มันก็เป็นไปได้ทุกอย่าง ฉะนั้นเรื่องการุณยฆาตนี่ไม่เห็นด้วยอย่างมาก พระอาจารย์ชยสาโร
ศิษย์เข้าใจว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดของมนุษย์เรา คือ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความเข้าใจในคำว่า ‘ประโยชน์' เช่นนี้ เพียงพอแล้วหรือไม่ พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร? คือประโยชน์ตน ความสุขตน ใช่ แต่มองในทางบวกก็คือ การปฏิบัติถึงขั้นนี้ ก็มีผลทำให้ความเมตตากรุณา ปัญญา ความเป็นอิสระภายในจะอุดมสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นผู้ที่ปล่อยวางหรือว่าหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย แล้วถึงพร้อมด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ที่สามารถสร้างประโยชน์กับส่วนรวมได้เต็มที่ เพราะไม่มี ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเองอีกแล้ว แล้วก็มีความเมตตากรุณา มีเจตนาบริสุทธิ์ในการสร้างประโยชน์ และมีปัญญา มีกุศโลบายในแนวทางที่จะสร้างประโยชน์ให้มาก เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเน้นในสิ่งที่ปล่อยวางไป บางทีมันจะฟังแบบ ไม่มีอะไร ไม่รู้จะอยู่ทำไม เรียกว่าเราก็ต้องบาลานซ์ (balance) ด้วยคุณธรรมที่เกิดทดแทนสิ่งที่ไม่ดีที่จากไปหรือขาดไป พระอาจารย์ชยสาโร
ขอท่านอาจารย์โปรดให้คำแนะนำการดูแลคุณพ่อหรือคุณแม่ซึ่งป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย? หนึ่ง ก็ต้องเคารพในความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ อย่างเช่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ชอบฟังเทศน์ ไม่ชอบเลย ไม่ชอบ...อย่าไปบังคับมาก ...นี่ก็ต้องเปิดเสียงธรรมะ เปิดนั่น… ใช่ ถ้าเป็นเรานี่ก็คงดี แต่ต้องดูใจท่าน บางทีท่านอาจจะฟังเพลงมากกว่า คืออย่าไปแบบเข้มงวดมากเกินไป อย่าไป… เคารพในความต้องการของท่าน สอง นี่ก็ควรจะมีการสลับพอสมควร เพราะถ้าเหนื่อยมากเกินไป บางทีอารมณ์เราเสียแล้วตอนหลังก็เสียใจ ต้องดูแลสังขารของเราด้วย บางที...มันไม่ใช่บางที หลายครั้ง ผู้ที่อยู่วาระสุดท้ายเขาอยากไปเต็มที่แล้ว แต่ท่านไม่ไปเพราะเกรงใจลูก ลูกก็ทำท่าจะทำใจไม่ได้ถ้าคุณพ่อคุณแม่จากเราไป ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าให้ท่าน… ลูกก็รักมาก ลูกก็อยากให้อยู่นานๆ แต่ถ้าถึงเวลาคุณพ่อก็ไม่ต้องเกรงใจนะคะ ไม่ต้องเป็นห่วง ของเราก็เรียบร้อยทุกอย่าง ไม่ต้องเป็นห่วง มันจะไปเมื่อไรก็ตามสบาย คือเหมือนเราอนุญาตว่า ท่านรู้สึกท่านพร้อมเมื่อไรท่านก็ไม่ต้องแบบอึดอัดใจว่า มันเป็นบาปไหมหนอ ทิ้งลูกที่กำลังทุกข์ใจ ก็เป็นการเสียสละของลูก แต่ถ้าพ่อแม่ผู้ที่อยู่วาระสุดท้ายท่านเป็นคนเข้าวัด ถ้าเรามีเปิดธรรมะบ้าง หรือว่าช่วงเช้าช่วงเย็น ชวนลูกหลานไปทำวัตรสวดมนต์กับท่านนี่จะดีมาก แต่อยู่ในห้องนี่ต้องดูแลอารมณ์ ถ้าเกิดความไม่พอใจกัน อย่าเพิ่งทะเลาะทั้งๆ ที่ท่านนอนแบบไม่รู้ คือคนที่หลับตาดูไม่รับรู้อะไรนี่ บางทีได้ยินหมดเลย คือหูจะเป็นอวัยวะสุดท้ายที่จะเสื่อมไป ถ้าท่านยังรู้ตัวอยู่ พยายามดูว่าท่านยังมีอะไรวิตกกังวลไหม มีอะไรที่ท่านไม่สบายใจไหม ชวนให้ท่านปล่อยวางในเรื่องนั้น ท่านเป็นห่วงเรื่องทรัพย์สินเงินทอง เรื่องที่ดิน เรื่องลูกหลาน เรื่องนั้น เรื่องนี้ ชวนคุยให้ค่อยๆ ชำระในเรื่องนี้ พระอาจารย์ชยสาโร
ในการทำการค้า บางครั้งอาจจะต้องใช้คำโฆษณาเชิญชวนให้คนคล้อยตาม เราจะมีวิธีรักษาศีลข้อมุสาวาทให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร? ก็คือศีลข้อนี้เป็นมาตรฐาน คือศีลห้าข้อนี่เป็นเครื่องระลึกของการเจริญสติในชีวิตประจำวัน คือไม่ใช่ว่ารักษาศีลจะได้เจริญสติ แต่ในการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ศีลห้าข้อนี่มันเป็นเครื่องระลึกของสติ นี่มันจะอยู่ในใจว่า “เอ๊ะ จริงหรือไม่จริงอย่างไร” อันนี้ก็คือตัวสติ ก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ศีลบริสุทธิ์ต้องพูดตรงตามความเป็นจริง แต่ถ้าในบางกรณีรู้สึกเหลือวิสัยจริงๆ ก็ต้องให้มันตรงเท่าที่จะตรงได้ อย่างน้อยมันก็เป็นความคิดอยู่ในใจว่า พยายามให้ตรงที่สุด เพราะเป็นเครื่องระลึกของสติ บางทีมันก็จะทำให้ปัญญาทำงาน เอ้อ...เราสามารถพูดได้โดยไม่ต้องโกหกก็ได้ มันก็มีเทคนิคในการพูดที่เราค่อยเรียนรู้ คือจะโฆษณาของ บางทีมันไม่ใช่ว่ามีทางเลือกระหว่าง พูดความจริงกับโกหกเต็มที่ มันก็มีวิธีพูดที่มันเป็นเรื่องศิลปะของการถ่ายทอดกับการสื่อสารกัน คือเราจะพูดกับคนล่าสัตว์เหมือนกันว่า ล่าสัตว์นี่อย่างไรก็เป็นบาป แต่ทำให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วทำอย่าให้โหดเหี้ยม อย่าให้มันมีการทรมาน ถ้าจริงๆ มีทางเลือกไม่ได้ อย่างน้อยให้ทำให้น้อยที่สุด ให้เป็นบาปให้น้อยที่สุด ในการโฆษณานี่ส่วนมากคนก็รู้อยู่ในระดับหนึ่งว่า เขาพูดเกินอย่างนั้นเอง “ดีที่สุดในประเทศไทย” หรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นการอวดตัวของเจ้าของสินค้า แต่ถ้าเราโกหกในลักษณะที่ทำให้เป็นการหลอกลวง หรือว่าทำให้คนเข้าใจว่าคุณภาพเป็นอย่างนี้ ซึ่งที่จริงคุณภาพก็แค่นี้ อันนี้เรียกว่าเป็นบาปมาก แต่ถ้าเป็นโฆษณาแบบ “ใช้สินค้านี้ จะมีความสุขเหลือเกิน” อะไรนี้ก็ถือว่าธรรมดาของการโฆษณาอยู่ พระอาจารย์ชยสาโร
มักจะขี้กังวลกับการใช้ชีวิต คอยพะวงหน้าพะวงหลังกลัวว่าจะทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่ครบถ้วน ควรแก้ไขอย่างไรดี? ความรอบคอบเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ก่อนที่เราจะทำอะไร เราก็ทบทวนว่า ควรไม่ควร อย่างไร แต่ถ้าไม่ระวังมันจะเกินพอดี มันจะกลายเป็นการพะวง ซึ่งสิ่งที่ควรจะระลึกอยู่เสมอก็คือ ‘ชีวิตของเรานี่ ทุกครั้งที่เราต้องตัดสิน เป็นการเสี่ยง’ ไม่มี...ไม่มีในชีวิตที่เราจะรู้ล่วงหน้าร้อยเปอร์เซนต์ว่า แน่นอน ใช่เลย เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะผิดหวังหรือจะไม่เหมือนที่คิด มันก็มีอยู่เสมอไป พระพุทธองค์ก็เน้นที่จิตใจของเราที่มีความพร้อมที่จะรับมือ ที่จะได้กำไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ตาม เพราะฉะนั้นเราก็คิดแล้ว...มันน่าจะทำอย่างนี้นะ ถ้าเกิดไม่เหมือนที่คิด เราก็พร้อมที่จะปรับแก้ไขได้อยู่เสมอ เวลาเราให้กำลังใจใครก็บอกว่า “ประตูนี้ปิด ก็ทำให้ประตูนี้เปิด” ใช่ไหม แต่ในทำนองเดียวกัน ทุกครั้งที่ประตูนี้เปิด ก็มีประตูอีกหลายประตูที่ปิด เพราะฉะนั้นมันก็เป็นธรรมดาของชีวิต เราจึงต้องสังเกตตัวเองว่า การคิดพะวงอย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์กับชีวิตเลย หนึ่ง ก็ทำให้เหนื่อย สอง ก็จิตใจก็ไม่มีความสุข สาม การคิดพะวงกลับไปกลับมา ก็ไม่ได้ทำให้ปัญญาเพิ่มขึ้นในการตัดสิน ในการวิเคราะห์ปัญหา การแก้ปัญหา ก็มีแต่ลบ มีแต่เสียอย่างเดียว ก็เป็นนิสัยความคิดที่เราควรจะเห็นโทษ แล้วปล่อยวาง มันไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ทำตามอารมณ์ แต่เราต้องหาความพอดี หรือถ้าเรารู้สึกว่าหาความพอดียาก ให้กำหนดเวลา อย่างเช่น โอเค วันนี้เราก็จะคิดทบทวน แต่พรุ่งนี้เช้าแปดโมง ต้องตัดสิน อะไรแบบนี้ คือให้เวลาเต็มที่ แต่หลังจากนั้นตัด...จบ นี่ก็จะเป็นวิธีที่จะสร้างวินัยกับตัวเองแบบไม่ค่อยธรรมชาติทีเดียว แต่ว่าพอเราทำไปทำมาก็จะง่ายขึ้นๆ พระอาจารย์ชยสาโร
เวลานั่งสมาธิมักจะหลับเสมอ ไม่ทราบมีวิธีใดบ้างที่จะปรับปรุง หรือพัฒนาการภาวนาได้บ้าง? เหตุผลที่หลับระหว่างการนั่งสมาธิมีหลายข้อด้วยกัน มันแล้วแต่ หนึ่ง บางทีก็เพราะขาดการพักผ่อน ถ้านั่งก็หลับ ลืมตาลุกขึ้นก็ยังง่วงอยู่ ก็ไปพักผ่อนดีกว่า แต่ถ้านั่งก็หลับ ลุกขึ้น สดชื่นเบิกบาน ก็คงเป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของนิวรณ์ เหตุผลข้อแรกก็คือ ความเข้าใจ ว่าการทำสมาธิคืออะไร เพื่ออะไร มันผิดพลาดเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างเช่น เข้าใจความสงบคือความผ่อนคลาย ก็เลยต้องการความผ่อนคลาย พอเราอยู่กับลมหายใจเรื่อยๆ ความฟุ้งซ่านลดน้อยลง เริ่มจะรู้สึกผ่อนคลายก็ไปเพลินอยู่กับความผ่อนคลาย ก็เลยกลายเป็นง่วง แต่ถ้าเราเข้าใจว่าการภาวนาหรือการทำสมาธิ ก็เพื่อฝึกสติ ฝึกความตื่นรู้ ฝึกในการป้องกันกิเลสไม่ให้เกิดครอบงำจิต ฝึกในการปล่อยวางกิเลส ฝึกในการปลูกฝังคุณธรรม ฝึกในการบำรุงพัฒนาคุณธรรม เป็นเรื่องการทำความเพียรแล้วก็จะเป็นการป้องกันอยู่ในระดับหนึ่ง ที่สองก็คือ ฉันทะ ความพอใจ คือถ้า...เออถึงเวลานั่งก็นั่ง แต่ว่าความพร้อม ความกระตือรือล้นไม่มี มันก็มีสิทธิจะง่วงได้ง่าย สอง นอกจากนั้นในยุคปัจจุบันนี่ จิตใจของเรามันจะยุ่งทั้งวันนะ จิตมันจะคุ้นเคยกับความยุ่งเหยิงต่างๆ พอจะภาวนาแล้วมันจะไม่คิดอะไร มันเหมือนกับสมองจะเข้าใจว่าได้เวลาหลับแล้ว เพราะปกติในชีวิตประจำวันก็จะมี ฟุ้งซ่านกับหลับ สองอย่าง ไม่ฟุ้งก็หลับ ไม่หลับก็ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นพอมันเริ่มฟุ้งซ่านน้อยลง สมองมันจะ...ได้เวลาหลับแล้ว วิธีจะป้องกันคือเปลี่ยนความคิด แล้วก็ก่อนจะนั่งให้สำรวจความรู้สึก มันมีความกระตือรือล้นไหม มันมีศรัทธาไหม ทีนี้เวลาถ้านั่งสมาธิก่อนนอนมันก็ยากที่จะมีฉันทะ ที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าในธรรม ส่วนมากมันกลายเป็นพิธีพอจิตสงบบ้างก่อนจะหลับ ก็ไม่ใช่ว่าไม่ควรทำ แต่ช่วงเช้านี่จะสำคัญกว่า จะได้ผลมากกว่า และถ้านั่งตอนเช้าแล้วคอยประเมินผลในชีวิตประจำวัน เออ...ถ้าทำตอนเช้าแล้วรู้สึก เออ...ใจก็เย็นลง ความอดทนความเมตตา ก็เอ้อ...ใช่ได้ผล มันก็เป็นกำลังใจ อีกข้อหนึ่งก็คือ นิสัยคนบางคนนี่คือ จะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เมื่อมีปัญหาอะไรนะ เดินออกไปไม่อยากยุ่ง ถ้าผู้หญิงก็อยากพูด อยากคุย แต่ผู้ชายนี่แบบสร้างกำแพงเลย ไม่พูดดีกว่า คือมันเป็นการปิดสวิตซ์เวลาเกิดไม่สบายใจ เกิดทุกข์ใจ ก็ปิดสวิตซ์เสียดีกว่า คือ ดับ เวลานั่งสมาธิเกิดเบื่อ เกิดอะไรขึ้นมา ก็เลยปิดสวิตซ์นะบางที ให้เวลามันผ่านไป เพราะฉะนั้นกิเลสที่จะปรากฏในรูปแบบความง่วงเหงาหาวนอนมันก็มีหลายตัว มันแล้วแต่ นั่งตัวตรงๆ ลืมตา ไม่จำเป็นต้องหลับตา แต่ไม่เพ่งนะ วางสายตาให้นุ่มนวล ให้สบายๆ พระอาจารย์ชยสาโร
วิธีการแผ่เมตตาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร? เรื่องวิธีนี่มันไม่มีถูกต้อง ไม่ถูกต้อง คือมันแล้วแต่ แต่ละคนจะใช้เทคนิคไม่เหมือนกัน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น นี่จะให้เราแผ่เมตตาให้กับตัวเองก่อน แล้วก็ค่อยๆ ขยายไปสู่ผู้มีพระคุณ ออกมาสู่เพื่อนฝูง คนที่เป็นกลางๆ แล้วสุดท้ายศัตรู แล้วค่อยๆ คือหลักโดยรวมก็คือเริ่มจากง่าย ค่อยๆ หาสิ่งที่ยาก แต่ในต่างประเทศ พระที่ไปเผยแผ่ต่างประเทศก็เจออุปสรรค เพราะชาวตะวันตก โอ้ย แผ่เมตตากับตัวเองไม่เป็น ทำไม่ได้ สุดท้ายก็เลยต้องเปลี่ยน ให้เริ่มต้นจากการแผ่เมตตา แบบลูกแมว ลูกหมา อะไรที่มันน่ารักๆ คือเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับเขา แล้วจากนั้นค่อยๆ ขยาย แต่ในพระไตรปิฎกเองพระพุทธองค์ก็ไม่เคยตรัสให้มันเป็นเทคนิคเป็นวิธี มันเป็นหลักการมากกว่า อย่างเราแผ่เมตตาพร้อมกับลมหายใจก็ได้ ถ้าลมหายใจเข้าก็เอาความรักความเมตตามาสู่กายมาสู่ใจเรา หายใจออกก็แผ่ออกทุกทิศทุกทาง หายใจเข้าก็เมตตาตัวเอง หายใจออกก็เมตตาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเราจะคิดเป็นข้อๆ ไป อย่างเช่น เราทุกคนในห้องนี้ ทุกคนในบ้านนี้ ทุกคนในละแวกนี้ ทุกคนในกรุงเทพ ทุกคนในเมืองไทย ทุกคนในเอเซีย ขยายๆ ออกไป เพื่อให้จิตไม่เผลอไป แต่การใช้ข้อคิด หรือว่า ข้อนั้น ข้อนี้ ก็เป็นแค่จุดเริ่มต้น เหมือนจะเป็นการจุดประกาย พอจุดประกายคือความรู้สึกเมตตาได้แล้ว เอาความรู้สึกนั้นเป็นที่กำหนดของจิต ถ้าจิตเริ่มจะคิด จะหลง จะอะไรก็ใช้ความคิดช่วยให้จิตกลับมากับความรู้สึกอีกที ความรู้สึกที่ต้องการนี้จะนำไปสู่สมาธิ วิปัสสนาได้ในที่สุด คือความรู้สึกที่ว่าเมตตานั้นสามารถระงับนิวรณ์ให้จิตเข้าสู่สมาธิก็ได้ พระอาจารย์ชยสาโร
การที่เราทำให้พ่อแม่เสียใจ บาปอย่างไร? บาปอยู่ที่เจตนา ถ้าเราทำสิ่งใด ‘เพื่อ’ ให้พ่อแม่เสียใจโดยเฉพาะ แกล้ง อันนี้ก็เป็นบาปกรรม แต่ถ้าเจตนาของเราบริสุทธิ์ เจตนาเราดี แต่ในบางเรื่องพ่อแม่ไม่เห็นด้วย เสียใจ มันก็ไม่ได้บาปกรรมของเรา อย่างเช่น สมมติว่าพ่อแม่ชอบเล่นการพนัน แล้วก็อยากให้เราไปด้วย ไปเล่นกาสิโนกับท่าน เราก็บอกว่าเราไม่ไป เรารักษาศีล ท่านก็ไม่พอใจ ท่านก็โกรธ อาตมาว่าไม่บาปนะ ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นเราจะเอาอารมณ์ของพ่อแม่เป็นหลักไม่ได้ พ่อแม่มิจฉาทิฏฐิก็มี พ่อแม่ไม่เข้าใจในบางเรื่องก็มี ฉะนั้นเราเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่ทำถูกต้องดีงาม ไม่คิดเข้าข้างตัวเองจนเกินไป ถ้าเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย เราก็เอาตามคุณพ่อคุณแม่ดีกว่า ถ้ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมหรือว่าหลักความดี บางทีต้องยอมให้ท่านไม่พอใจเรา อย่างมีลูกศิษย์ของอาตมานี่มีพี่น้อง มีน้องๆ เยอะ ส่วนมากน้องๆ ก็เอาใจคุณพ่อคุณแม่ทุกเรื่อง ลูกศิษย์เป็นลูกคนโต ก็จะเป็นคนเดียวที่กล้าปฏิเสธ กล้าพูดในเมื่อพ่อแม่ทำอะไร โดยเฉพาะคุณแม่ทำอะไรที่มันไม่เหมาะสม คุณแม่ก็โกรธมาก โกรธลูกสาวคนโตมาก เป็นประจำ แต่บั้นปลายของชีวิตของคุณแม่ คนที่นับถือที่สุด กลับว่าเรียกลูกว่าเป็นแม่ คือลูกคนโต เพราะเป็นคนเดียวที่ซื่อสัตย์ แล้วก็ไม่เคยเอาใจ พูดแต่สิ่งที่ถูกต้อง ลูกคนอื่นพ่อแม่จะเอาอะไรก็เอาตามหมดเลย สุดท้ายนี่ผู้ที่คุณแม่เคารพที่สุด คือลูกที่ทำให้เสียใจบ่อยหรือว่าโกรธบ่อย พระอาจารย์ชยสาโร
การเปลี่ยนชื่อมีผลต่อเราไหม? ลำบาก สร้างความลำบากมาก เรื่องการจะต้องเปลี่ยนบัตรประชาชน ต้องเปลี่ยนพาสปอร์ต ต้องแจ้งเพื่อน เพื่อนบางคนก็หาว่าเรางมงาย บางคนก็ไม่ยอม บางคนก็ลืม ทำให้เรายุ่ง นี่คือผล ผลในทางดีอาตมาไม่มั่นใจ ไม่มีข้อมูลพอที่จะสรุปได้ แต่ที่สันนิษฐานจะเป็นเรื่องของการอุปาทานมากกว่า เกิดหลังจากเปลี่ยนแล้วเจออะไรดีๆ อ้อ...นี่ถ้าไม่เปลี่ยนชื่อก็คงไม่ได้อย่างนี้ ใช่ไหม หรือว่าเจออะไรไม่ดี โอ้ ถ้าไม่เปลี่ยนชื่อคงแย่กว่านี้ มันก็ทำให้เกิดความคิดอย่างนี้ได้ แต่เรื่องความลี้ลับเรื่องการเปลี่ยนชื่อนี่ อาตมาไม่มีประสบการณ์ตรงเลยไม่กล้าวิจารณ์ แต่อาตมาว่าเปลี่ยนพฤติกรรมดีกว่า เปลี่ยนจิตใจตัวเองดีกว่าเปลี่ยนชื่อ ใช่ไหม พระอาจารย์ชยสาโร
การที่หลายคนบวชเพราะเหตุผลอะไร? มันก็มีหลากหลายมากเลย ก็มีจำนวนหนึ่งที่บวชให้พ่อให้แม่ตามประเพณี บางคนก็มีศรัทธาตั้งแต่เด็ก คิดตั้งแต่เด็กว่าวันใดวันหนึ่งอยากเป็นนักบวช บางคนศึกษาปฏิบัติธรรม เกิดความศรัทธา เกิดความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติ แล้วก็อยากถวายชีวิตไว้กับการประพฤติปฏิบัติธรรม บางคนอาจจะถือว่าเป็นวิถีชีวิตที่งดงามแล้วก็สงบสบาย แต่คนที่บวชเพราะมีปัญหาที่บ้านหรือปัญหาทางโลก มักจะไม่ค่อยรอดเหมือนกัน ถ้าคนแบบแพ้ปัญหาทางโลก หนีไปอยู่วัด อยู่ไม่นานหรอก เพราะมันเจอปัญหา ปัญหาเดิม เพราะว่าปัญหามันเกิดจากตัวเขาเอง ไปที่ไหนมันก็จะมีปัญหา แล้วก็จะมีพวกที่อยากบวชตั้งแต่เด็ก แต่ว่ามีภาระหน้าที่ในการดูแลบุพการี หรือว่ามีครอบครัวต้องเลี้ยงลูกให้จบเสียก่อน หรือว่าเกษียณเสร็จแล้วอายุหกสิบ หกสิบก็อยากใช้บั้นปลายชีวิตในผ้าเหลือง มันเหมือนกับมีนัยยะ ที่บวชด้วยเจตนาไม่เป็นบุญเป็นกุศลอาจจะมีเหมือนกัน ซึ่งอาตมาก็เคยตักเตือนญาติโยมในเรื่องการถวายปัจจัย ถวายเงินกับพระ ก่อนอื่นนี่บิณฑบาตไม่สมควรที่จะเอาเงินใส่บาตรพระ ที่จริงตามหลักพระวินัยพระก็อาบัตินะ ถ้ารับเงินในบาตร แต่ข้อที่สองมันก็เป็นการยั่วกิเลสของพระ เรียกว่าทำให้มีพระปลอมเข้ามา ก็รู้ว่าเดินบิณฑบาตในกรุงเทพฯ ชั่วโมงสองชั่วโมงก็ได้หลายร้อยบาทแล้ว บางคนคิดว่า เออ...ดีกว่าทำงานเนาะ คือเขาก็บาปตกนรกอยู่แล้ว แต่ว่าผู้ที่ให้เงินก็มีส่วนสนับสนุน เพราะฉะนั้นในการถวายปัจจัยสงฆ์ เราต้องระบุว่าถวายเพื่ออะไร เพื่อสมณะบริโภค ถ้าเราระบุว่าถวายปัจจัยเพื่ออะไร จะเขียนเป็นตัวหนังสือหรือจะกล่าว ถ้าพระองค์นั้นไม่ดีเอาเงินไปใช้ในทางไม่เหมาะสม อย่างน้อยก็เป็นบาปของท่านคนเดียว เราก็ได้บุญเพราะว่าเราถวายปัจจัยถูกต้องตามหลักพระวินัย เพื่อบำรุงพระศาสนา ถ้าเรามีปัญหาในสถาบันสงฆ์ซึ่งก็มีอยู่บ้าง แต่มีปัญหาหลายข้อก็เกิดเพราะเงินและทอง ซึ่งญาติโยมก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้บ้าง พระอาจารย์ชยสาโร
อยากทราบเทคนิคหรือวิธีในการเลือกคบเพื่อน? การคบเพื่อนพื้นฐานที่สุดก็คือศีลธรรมนั่นเอง ศีล ๕ ข้อนั้นเป็นเครื่องรับประกันความปลอดภัย ทำให้เราไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ ถ้าศีลธรรมไม่บริสุทธิ์หรือว่าคนไม่มีความจริงใจในการรักษาศีล สุดท้ายไว้ใจไม่ได้ มันเป็นเครื่องตัดสินให้ในระดับหนึ่ง ข้อที่สองต้องสังเกตว่าเวลาเราอยู่กับใคร กาย วาจา ใจของเรามันเปลี่ยนแปลงอย่างไร อย่างเช่น บางคนนี่ไม่ใช่ว่าเป็นคนไม่ดี แต่ไม่รู้เวลาไปอยู่ มันจะพูดอะไรไม่ค่อยดีซึ่งปกติไม่ค่อยพูด แต่สองคนนี้เกิดคุยกันเมื่อไร ทำไมมันจะออกไปในทางที่ไม่เป็นบุญเป็นกุศลเลย หรือว่าพฤติกรรมบางอย่างซึ่งปกติอยู่คนเดียวก็ไม่คิดจะทำ ก็กลายเป็นทำ อาจจะเป็นเพราะเกรงใจหรือเพราะเป็นอารมณ์ร่วม อะไรก็ได้ เป็น synergy ในทางไม่ดี อันนี้ก็เรียกว่า สำหรับเรา คนนี้ไม่ใช่กัลยาณมิตรของเรา แต่มันไม่ใช่การตัดสินเขา หรือว่าการอะไร ก็คืออาจจะเป็นคนดี อาจจะมีข้อดีหลายอย่าง รู้แต่ว่าเราสองคนอยู่ด้วยกันไม่ดี แต่ว่าบางคนนี่เราอยู่กับเขา เรารู้สึกเหมือนเขาก็ดึงดูดความดีของเราออกมา รู้สึกว่าอยู่กับเขานี่ทำอะไรดี คิดดี อะไรที่ปกติถ้าอยู่คนเดียวอาจจะไม่ได้คิด รู้สึกว่าเพราะรู้จักคนนี้ คุ้นเคยกับคนนี้เราเป็นคนดีขึ้น เวลาเราอยู่กับเขาเรารู้สึกมองตัวเอง ชอบตัวเอง รู้สึกชื่นชมตัวเองได้ ภูมิใจตัวเองได้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะช่วยเขาได้ เขาไว้วางใจเรา ก็มีทั้งรับทั้งให้ คือการที่เป็นเพื่อนกันต้องมีทั้งสองอย่าง บางคนนี่...ถ้าคนไม่ดีคิดว่ารับดีกว่าให้ ถ้าเป็นคนดีทั่วไปก็ว่าให้ดีกว่ารับ แต่ถ้าเป็นนักปราชญ์นี่ ต้องรับในเวลาโอกาสที่สมควรจะรับ และให้ ในโอกาสที่สมควรจะให้ แล้วสำนึกด้วยว่า ในโอกาสที่ให้ได้รับอะไรบ้าง และเวลารับแล้วให้อะไรบ้าง ฉะนั้นก็อยู่อย่างนี้ อยู่ด้วยกันอย่างนี้มีความสุขความเจริญ พระอาจารย์ชยสาโร
ถ้าเรารู้สึกทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าทุกข์เรื่องอะไร ต้องทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าเราทุกข์เรื่องอะไรอยู่? ต้องปลีกตัวออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย มาอยู่คนเดียวสักพักหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ก็ออก... ถ้าอยู่กรุงเทพก็ออกต่างจังหวัดสักสองสามวัน ไปเขาใหญ่ ยิ่งไปอยู่ในธรรมชาติที่ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีอะไรยั่วยุ นี่ดีที่สุด พอเราอยู่กับตัวเองนะ อะไรที่มันอยู่ใต้สำนึกมันก็ผุดขึ้นๆ “อ้อใช่ อันนี้มันไม่ถูกเลย โอ้...อันนี้มัน...” คือมันจะจัดสรรความคิดได้ดี แต่ถ้าอยู่สิ่งแวดล้อมดั้งเดิม มีสิ่งนั้นเข้ามา มันไม่มีเวลาไม่สามารถที่จะดูความคิด ที่จะชั่งน้ำหนักความคิด หรือว่าที่จะดูว่านี่มันคิดผิดนะ อันนี้คิดถูกนะ ถ้ามีโอกาสไปกราบครูบาอาจารย์ ไปที่วัด หรือว่าไปขอพักปฏิบัติธรรม หรือไปเล่าให้ท่านฟังท่านอาจจะช่วยเราได้ บางทีแค่เล่าให้คนอื่นฟังที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้ที่เราเคารพนับถือหรือที่เราไว้ใจ ไม่ต้องถึงขั้นพระผู้ใหญ่ แค่เพื่อนด้วยกันที่เรามั่นใจว่าจะฟังด้วยจิตเป็นกลาง ก็สามารถจับความคิดผิดของตัวเองได้ แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมเป็นประจำทุกเช้าทุกเย็นก็เป็นเวลาให้กับการเจริญสตินั่งสมาธิ ไม่ต้องไปไหนหรอก เราก็รู้ของเราเอง เพราะว่าเราดูกายดูใจอยู่ทุกวันจนชำนาญ เกิดความผิดปกติเกิดอะไรเราก็รู้ทัน อันนี้ก็เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ว่าทำไมจะต้องทำสมาธิทุกวัน จะได้รู้เท่าทันความคิดตัวเอง พระอาจารย์ชยสาโร
ถ้าขโมยเงินจากคนรวยที่รวยมาจากการโกงคนอื่นมาแจกคนจนจะบาปไหม? คือบาป ‘บาปก็คือเจตนา’ เจตนาที่จะถือสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่ว่าเป็นใคร เพราะในขณะที่เราขโมยไป เจตนาที่จะเอาของเขาก็ปรากฏอยู่ในใจ นี่ตัวนี้ตัวบาป ส่วนเหตุผลต่างๆ ว่าไม่น่าเป็นอะไร เขารวยไม่รู้เรื่องเลย แล้วก็เงินของเขานี่มันเป็นเงินที่ไม่สะอาดอยู่แล้ว เราไปแบ่งปันให้คนที่เขาไม่มีจะดีกว่า เป็นโรบินฮู้ดนี่มันน่าจะดี อันนี้เป็นเหตุผลประกอบ ซึ่งการที่ตั้งใจเอาของคนทุจริตไปให้คนยากจนก็คงมีความเมตตาอยู่บ้าง แล้วก็ไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ว่านั่นก็จะทำให้แค่บาปกรรมน้อยลง แต่ตัวบาปก็ต้องมี แล้วสุดท้ายนี่เขาเอง เขาก็มีเหตุผลว่าที่คอรัปชัน ไม่ได้เอาเพื่อตัวเอง เอาเพื่อลูกเพื่อหลาน เพื่อลูกน้อง ตัวเองก็ยังไม่ค่อยได้...แต่ละคนก็มีเหตุผลของเขา แต่สุดท้ายนี่เราขโมยเราก็กลายเป็นคนพรรค์เดียวกับเขา แล้วก็ทำให้คุณธรรมในจิตใจของเราได้ตกต่ำ ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเอง โดยเฉพาะในการประพฤติปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เมื่อเรายอมอนุโลมในเรื่องศีลแต่ละข้อ ทั้งๆ ที่เราอาจจะเชื่อว่ามีเหตุมีผล มันก็เป็นก้าวแรก แต่ถ้าก้าวแรกนี่มันอาจจะยาก แต่ว่าก้าวที่สองง่ายขึ้น ก้าวที่สาม...แล้วก็เหตุผลที่เราจะใช้เพื่อปลอบใจตัวเองว่าความผิดเป็นความถูกก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ในที่สุดแล้วเข็มทิศของเราก็หายไป ไม่ดี ไม่เอาดีกว่า ไปขอเขาทำบุญดีกว่า พระอาจารย์ชยสาโร
ต้องทำอย่างไรให้เราสามารถวางใจให้ไม่ทุกข์ไปกับการถูกผู้อื่นแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเราได้? ก็เรื่องของเขา เขาก็มีสิทธิ์ที่เขาจะคิดอะไรของเขา ที่จะให้คนเข้าใจเราในทุกๆ ประการก็จะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เขาก็คิดตามที่เขาเห็น ตามที่เขาสัมผัส ที่เขาเชื่อ เป็นเรื่องของเขา บางทีเขาก็เห็นว่าดีกว่าที่เป็นจริงก็มี ไม่ใช่ว่ามันจะเลวกว่าเสมอไป คือเราอยู่ในโลกที่คนมองเราไม่เหมือนที่เรามองตัวเอง ก็เป็นการขัดเกลา ‘มานะ ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน’ แต่คนจะมองเราในแง่ร้ายก็ไม่ได้ทำให้ตัวเราเลวลง คนจะมองเราในแง่ดีก็ไม่ได้ทำให้ตัวเราดีขึ้น ก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเราต้องการจะจัดแจง จะควบคุม จะบังคับให้ทุกคนเคารพนับถือ ทุกคนรัก ทุกคนชอบนะ ทุกข์ไม่มีวันจบสิ้น บางคนก็ชอบเราแบบไม่มีเหตุผล บางคนก็รังเกียจเราไม่มีเหตุผล บางทีคนเขาไม่ชอบเรา เอ้...ทำไมเราก็ไม่เคยทำอะไรให้เขาเสียหาย ไม่เคยนินทา ไม่เคยอะไร ปรากฏว่าหน้าตาเราเหมือนกับคนที่เขาไม่ชอบ มองเห็นหน้าเราก็จะคิดถึงอีกคนหนึ่ง ก็เป็นแค่นั้น อย่าไปคิดมาก แล้วบางทีถ้าคนเข้าใจเราผิดในเรื่องที่เราบอกได้ แก้ความเข้าใจผิดได้ เราก็แก้ไป แต่ในบางเรื่อง เขาก็คง ...บางคนก็อย่างไรๆ ก็ยืนยันในความคิดของตัวเอง ก็เป็นโลกธรรม เราอยู่ในโลก เอ้อ เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดา พระอาจารย์ชยสาโร
ถ้าวันหนึ่งเราสูญเสียคนหรือสิ่งของที่เรารักไป เราจะมีวิธีจัดการกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความสูญเสียอย่างไร? เราไม่ควรจะรอถึงการพลัดพราก ควรจะซ้อมจิตตั้งแต่อยู่ด้วยกัน พระพุทธองค์ให้เราสวด ให้เราระลึกอยู่ทุกวัน “เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ มีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นจากความตายไปไม่ได้ มีความพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง” ต้องคิดบ่อยๆ คิดทุกวันๆ ไม่ใช่นานๆ คิด พอเราคิด เราพิจารณา เราสวดทุกวัน มันจะซึมซับเข้ามาในใจเรา จนกระทั่งความพลัดพราก นี่มันจะไม่ใช่ว่าจะไม่มีความรู้สึก มันต้องมีแน่นอน ถ้าเรารักใคร เราผูกพันกับใคร แล้วพลัดพรากต้องรู้สึก แต่พระพุทธองค์ก็เคยเปรียบเทียบเหมือนกับโดนลูกศรกับโดนลูกศรที่อาบน้ำพิษ ถ้าเราพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมดาของความเกิดแก่เจ็บตาย ความพลัดพราก ก็เจ็บเหมือนกับโดนลูกศร แต่ไม่มียาพิษ ทีนี้วิธีรักษาแผลก็คือรักษาความสะอาดของแผลนั่นเอง การรักษาความสะอาดก็คือ การงดเว้นจาก หนึ่ง การหลงใหลอยู่กับความคิดว่าไม่น่าเป็นอย่างนี้เลย เขาไม่น่าพลัดพรากเราเร็วขนาดนี้ หรือว่า คิดที่ความดีหรือบางสิ่งบางอย่างที่ว่าจะทำในอดีต ก็เลยสุดท้ายก็ไม่ได้ทำ หรือว่าเคยล่วงละเมิด หรือเคยอะไรบ้างเล็กน้อยไม่เคยมีโอกาส อย่าไปคิดวกวนอยู่อย่างนั้น จิตก็จะทุกข์อยู่ร่ำไปเหมือนกับปล่อยให้แผลติดเชื้อ อีกวิธีหนึ่งที่คนชอบหลงก็คือ พยายามบังคับไม่ให้คิด ทำนั่นทำนี่ วิ่งไปวิ่งมา เพื่อจะไม่ให้คิด แต่ที่จริงนะ มันก็ยังเป็นการเติมเชื้อของมันอยู่ดี วิธีที่ถูกต้องที่ได้ผลคือการรับรู้รับทราบต่อความรู้สึกของตัวเอง ว่านี่คือแผล นี่คือความเศร้า ก็รู้ แล้วเมื่อจิตคิด เริ่มจะคิด เราก็รู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้จิตตามมัน แต่อย่าให้ต่อต้านมัน อย่าให้ไปบังคับ รับรู้รับทราบ และความรู้สึกมันจะค่อยๆ จางไปตามธรรมชาติ เหมือนแผลที่มันจะค่อยๆ หายไป มันไม่ใช่ปุบปับ มันแล้วแต่ ถ้าเป็นคนใกล้ชิดมากอาจจะอย่างน้อยหนึ่งปี ส่วนมากคงถึงหนึ่งปี เสียคุณพ่อคุณแม่นี่ เป็นต้น นี่ไม่ใช่ว่าจะเร็ว ก็เรียกว่าธรรมชาติ อาตมาอยากเปรียบเทียบเหมือนภาษี มันก็ต้องเสียภาษีความรัก ส่วนมากเราก็นี่เออ...มันคุ้ม ยอม ยอม...มันคุ้มค่าอยู่ พระอาจารย์ชยสาโร
หากเราต้องการบรรลุถึงขั้นพระโสดาบันเราต้องทำอย่างไร? ก็เริ่มที่ ทาน ศีล ภาวนา นั่นเอง ต้องฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกใจให้ถึงพร้อม การจะบรรลุธรรมสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ศีล ๕ เป็นหลัก เพราะถ้าเรายังรักษาศีลไม่ได้ แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักคำสอน ยังไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ยังไม่มีสัมมาทิฏฐิ อยากรู้ว่าใครเป็นนักปราชญ์ในพุทธศาสนา ใครเข้าถึงหลักพุทธศาสนา ไม่ต้องสอบพระบาลีอะไรหรอก ดูพฤติกรรม คนไหนที่รักษาศีล ๕ ไม่ได้นี่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นศีล ๕ เป็นพื้นฐานในการฝึกพฤติกรรมกาย วาจา ในขั้นละเอียดต่อไป จิตใจก็ต้องประกอบด้วยศรัทธา ศีล จาคะ คือการเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และปัญญา ปัญญานั้นจะเกิดโดยมีสติและสมาธิเป็นพื้นฐาน แต่ถ้าเราสรุปง่ายสุดก็คืออริยมรรคมีองค์แปดนั่นแหละ คนบรรลุเป็นพระโสดาบันก็ด้วยอริยมรรคมีองค์แปด สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ แนวทางเดียวกันเพียงแต่ว่าจะลึกเข้าไป ลึกเข้าไป เท่านั้นเอง พระอาจารย์ชยสาโร
ลูกแต่ละคนคิดว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน รักลูกอีกคนหนึ่งมากกว่า ท่านอาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง? ต้องถามตัวเองว่า “คิดอย่างนี้เกิดประโยชน์ตรงไหนไหม” “ทำให้ตัวเองมีความสุขไหม” “ทำให้ครอบครัวมีความสุขไหม” หรือทำให้รู้สึกเศร้าหมองกันหรืออิจฉากัน หรือไม่พอใจกัน น้อยใจกันมากกว่า ถ้าอย่างนั้น ‘ไม่ต้องคิด’ การที่ทุกคนในครอบครัวหรือว่าลูกทุกคนมักจะคิดอย่างนี้ แสดงว่า ...สมมติว่าลูกสามคน แสดงว่าสองคนก็ต้องคิดผิดใช่ไหม ถ้ารักคนพี่มากที่สุด ก็น้องๆ ก็อาจจะคิดถูกมั่ง คิดผิดมั่ง อยากจะพูดว่าอย่าไปเชื่อความคิดของตัวเอง หนึ่ง พ่อแม่ก็เสียใจถ้าเราคิดอย่างนี้ แล้วก็อยากจะให้เราคิดในสิ่งที่เราได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ ให้ซาบซึ้งในบุญคุณของท่าน มากกว่าที่จะไปเปรียบเทียบตัวเองกับพี่หรือน้อง การเป็นพี่นี่ก็มีข้อดีข้อเสีย เป็นน้องก็มีข้อดีข้อเสีย แต่ว่าเราเวลาคิดเข้าข้างตัวเอง มันก็จะมองตัวเองไม่ตรงตามความเป็นจริง ฉะนั้นก็อย่าเพิ่งเชื่อความคิดของตัวเอง ถึงแม้ว่าเราอาจจะมั่นใจก็อย่าไปสำคัญมั่นหมายในเรื่องนั้น ให้เราระลึกอยู่ในความรักที่เราได้รับมาโดยไม่ต้องเปรียบเทียบดีกว่า พระอาจารย์ชยสาโร
ความสุขเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์หรือไม่ หรือมนุษย์สมควรอยู่ในสภาวะที่ไม่สุขและไม่ทุกข์มากกว่า? ความสุขเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ความสุขเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราไม่มีทางเลือกอย่างนั้น แต่ความสุขมีหลายประเภท ความสุขที่นำไปสู่ความทุกข์ มีโทษตามมาก็มี ความสุขที่ไม่มีพิษมีภัยก็มี ความสุขสูงสุดก็คือพระนิพพานซึ่งเป็นความสุขที่เหนือความสุขธรรมดา จนกระทั่งยากที่จะเข้าใจว่าทำไมจึงเรียกว่าความสุขได้ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความวางใจเป็นอุเบกขาในหลายเรื่องก็เป็นเงื่อนไขของการเรียนรู้และจัดการที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง แต่ในชีวิตจริงนั้นถ้าไม่ใช่พระอริยเจ้า ถ้าคนทั่วไป ไม่มีแหล่งความสุข จิตจะหดหู่ จะไม่มีกำลังใจ และพระพุทธองค์ยังตรัสไว้ว่า “จิตที่มีคุณสมบัติพอที่จะกำหนดรู้ทุกข์ก่อนที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องมีความสุขเสียก่อน จิตต้องมีสุขมันจึงจะรู้ทุกข์ได้” ในกระบวนการเจริญสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ก็แยกเป็นกระบวนการ พอจิตรวมเป็น ปล่อยวางนิวรณ์กิเลส จิตจะเกิดความปราโมทย์ ความปราโมทย์เข้มข้นก็เป็นปิติ ปิตินำไปสู่สุข สุขนำไปสู่สมาธิ เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาของจิตนี่จะผ่าน ‘ปิติ สุข สมาธิ’ ถ้าขาดสุข ถ้าขาด ไม่ได้ ฉะนั้นความสุขก็มีบทบาทมีความสำคัญในชีวิตเรามาก แต่การที่เราสามารถวางสุขวางทุกข์ได้ ในกรณีที่เราจะพิจารณาความจริงหรือเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน พระอาจารย์ชยสาโร
นิพพานคืออะไร ความรู้สึกของการบรรลุถึงเป็นอย่างไร นิพพานอยู่ที่ไหน เราจะเห็นอะไรในขณะนั้น? ในทางพุทธธรรม พระพุทธองค์ก็ไม่ค่อยจะกล่าวถึงพระนิพพานว่า เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ท่านจะเน้นในสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพระนิพพาน ก็เปรียบเทียบกับขนมปัง เป็นต้น รสชาติของขนมปังเป็นอย่างไร แค่นี้ เรื่องธรรมดาๆ ถ้าคนไม่เคยกินไม่รู้จะอธิบายอย่างไร นับประสาอะไรกับพระนิพพาน แต่เราสามารถบอกได้ว่า ผู้อยากจะรู้เองว่าขนมปังมีรสชาติอย่างไร ต้องหาส่วนประกอบอย่างนี้ คือต้องมีแป้ง ต้องมีน้ำ ต้องมีเชื้อ แล้วก็จะต้องเตรียมอย่างนี้ ต้องให้เข้าเตาอบกี่นาที อุณหภูมิเท่าไร เสร็จแล้ว เอ้า...ลองทานเอง อริยมรรคมีองค์แปด ก็เปรียบเทียบเหมือนการหาส่วนประกอบ และการทำเหตุปัจจัยให้เกิดขนมปังสมบูรณ์ เรื่องจะเป็นอย่างไร เราก็ถ่ายทอดไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังถ่ายทอดไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสังเกตได้จากผู้ที่บรรลุนิพพานแล้ว ก็หนึ่ง ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง คือไม่มีกิเลส ไม่มีสิ่งเศร้าหมองในจิตใจเลย คือมันดับโดยสิ้นเชิง แต่ทางบวกก็คือพูดได้ว่า พระพุทธองค์เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพระมหาปัญญาธิคุณ มหากรุณาธิคุณ มหาบริสุทธิคุณ เพราะฉะนั้นผู้ที่ถึงพระนิพพานแล้ว เป็นผู้ที่ไม่มีสิ่งเศร้าหมองอยู่ในใจ ไม่มีทุกข์อยู่ในใจ แล้วจิตถึงพร้อมด้วยปัญญา ด้วยความเมตตากรุณา และด้วยความบริสุทธิ์หรือความเป็นอิสระภายใน เราก็พูดได้แค่นี้ พระอาจารย์ชยสาโร
มีคำแนะนำอย่างไรเกี่ยวกับการปลดทุกข์ที่เกิดจากบ่วงกรรมของครอบครัว? เรื่องกรรม ผลกรรม ผลกรรมของใครที่เราก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นเรื่องของกรรมเก่ามากน้อยแค่ไหน และก็เป็นเรื่องการกระทำในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นผลกรรมจริงๆ แล้ว ก็ถือว่าเราต้องปฏิบัติเพื่อไม่ให้เป็นทุกข์กับกรรมเก่า หรือไม่สร้างกรรมใหม่ที่จะทำให้ผลกรรมเก่ากำเริบ พยายามไม่เป็นทุกข์ ไม่สร้างทุกข์ หรือเป็นทุกข์ให้น้อยที่สุด ฉะนั้นผลกรรมเก่าที่เรียกว่า ‘วิบากกรรม’ ก็เป็นความลำบากลำบน พอมันมีปัญหามันก็ชวนให้น้อยใจ เสียใจ โกรธ แค้น ทะเลาะวิวาท สิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่ว่าเป็นผลกรรม มันก็เป็นปฏิกิริยาต่อกรรมเก่าด้วยจิตที่ขาดธรรมะเป็นที่พึ่ง เพราะว่าผู้ที่ตั้งสติ เป็นผู้ทรงศีล เป็นผู้ฝึกตน จะถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทาย “โอ้ ถ้าเป็นอย่างนี้ชวนให้หดหู่เนาะ มันชวนให้เศร้าเนาะ มันชวนให้น้อยใจเนาะ” แต่เราจะหดหู่หรือเราจะน้อยใจนี่มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่อยู่ที่ใจเรา ซึ่งเราฝึกดูแลจิตใจตัวเองก็ไม่ต้องเป็นทุกข์กับมันได้ มันลำบากแต่จิตใจก็ยังมีความสุขได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องเป็นทุกข์กับมัน หรือถ้าเป็นทุกข์ก็ทุกข์น้อย สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ ‘ปัญหากับตัวทุกข์ ไม่ใช่ประเด็นเดียวกัน’ มันก็เป็นเรื่องที่เรายังปฏิบัติต่อปัญหายังไม่ค่อยเป็น เพราะเราขาดการฝึกจิตพอที่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหา พระอาจารย์ชยสาโร
loading
Comments 
Download from Google Play
Download from App Store