DiscoverTHE MOMENTUM Podcast
THE MOMENTUM Podcast
Claim Ownership

THE MOMENTUM Podcast

Author: THE MOMENTUM

Subscribed: 4,651Played: 6,845
Share

Description

Podcast by The MOMENTUM
235 Episodes
Reverse
b-holder ร่วมย้อนอดีตไปหาคำตอบว่า ที่จริงแล้วดีกรีความเป็น ‘นักประชาธิปไตย’ ของ ทักษิณ ชินวัตร นั้นเข้มข้นขนาดไหน อะไรที่ประกอบสร้างให้ภาพ ‘ประชาธิปไตย’ ติดกับแบรนด์ของเขา แล้วจนถึงวันนี้ยังคงเหลือความเป็น ‘นักประชาธิปไตย’ อยู่หรือไม่
3 ปีผ่านไป หลังรัฐประหารที่มีข้ออ้างว่าด้วยเรื่อง ‘รักษาความสงบ’ และขจัด ‘คอร์รัปชัน’ สถานการณ์ในเมียนมายังคุกรุ่น . กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวกันสู้รัฐบาลทหารของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min aung hlaing) จนยิบตา หลายพื้นที่กองกำลังเหล่านี้เอาชนะกองทัพของรัฐบาลได้ และแม้รัฐส่วนกลางจะใช้อาวุธหนักจัดการเพียงใด ก็ไม่สู้การต่อสู้แบบ ‘กองโจร’ ที่มีเบื้องหลังอันสลับซับซ้อน และมีทั้งยุทธวิธี-ยุทโธปกรณ์ไม่แพ้กองทัพ คำถามก็คือ 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าผิดพลาดตรงไหน คำถามก็คือทำไมสมรภูมิสำคัญหลายแห่ง ฝั่งกองกำลังชาติพันธุ์กลับมียุทธวิธีที่เหนือกว่า แล้วเพราะเหตุใด อดีตเมืองหลวงอย่าง ‘มัณฑะเลย์’ ถึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ต่างฝ่ายต่างก็จะชิงชัย ยึดเป็นชัยภูมิสำคัญให้จงได้ พร้อมคำถามที่สำคัญที่สุด ผลลัพธ์สุดท้ายของการห้ำหั่นกันระหว่างทั้งสองฝ่ายจะนำไปสู่อะไร b-holder EP43 สนทนากับ ดุลยภาค ปรีชารัชช จากสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันหาเบื้องหลัง ถอดสมการอันซับซ้อนเหล่านี้ และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในความเป็นจริง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสถานะอย่างยากลำบาก ช่วงเวลาแห่งการครองราชย์ 7 ปี เต็มไปด้วยสถานการณ์แห่งความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ หรือปัญหาภายในพระบรมวงศานุวงศ์อันยุ่งเหยิง แน่นอนว่า ปัญหาทั้งหมดเป็นปฐมเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์สุดท้าย คำถามก็คือในห้วงเวลาอันปั่นป่วน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง สถานการณ์ ‘ระหว่างบรรทัด’ ส่งผลอย่างไรต่อสถานะของในหลวงรัชกาลที่ 7 และในสถานการณ์อันยากลำบาก ‘กษัตริย์นักประชาธิปไตย’ จัดการเรื่องเหล่านี้อย่างไร หากมองย้อนกลับไป ในหลวงรัชกาลที่ 7 อาจเป็นพระมหากษัตริย์ที่ ‘น่าสงสาร’ ที่สุดในราชวงศ์จักรี
พาย้อนกลับไปดูพัฒนาการทุนไทยยุคจอมพลสฤษดิ์ ว่าพวกเขาเริ่มร่ำรวยขึ้นได้อย่างไร และบรรยากาศการเมืองแบบใดที่ทำให้คนเหล่านี้สามารถร่ำรวย สร้างทรัพย์ศฤงคารได้ในห้วงเวลาการ ‘พัฒนา’ ประเทศ
ถึงวันนี้ ‘Soft Power’ วลีสั้นๆ ที่โจเซฟ ไนลส์ (Joseph Nyles) คิดขึ้นเมื่อหลายทศวรรษก่อน กลายเป็นวลีที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย หลายคนวิจารณ์ว่าไม่ตรงกับความหมายดั้งเดิม ขณะที่หลายคนวิจารณ์ว่า วลีนี้ถูกใช้เกลื่อนกลาดเกินไป และยุคนี้ อะไรก็ดูจะเข้าทาง Soft Power หมด เพราะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่อย่าง แพทองธาร ชินวัตร เกิดสนใจเรื่องนี้! แต่เอาเข้าจริงแล้ว Soft Power ในมุมมองของรัฐบาลนี้คืออะไร พรรคเพื่อไทยมีแผนจะทำอะไรบ้างกับ Soft Power แล้วบรรดาคำครหาต่างๆ เป็นต้นว่า “นโยบายนี้ ยากจะทำได้จริง” “เป็นแค่ราคาคุย แต่คนคิดกลับไม่เข้าใจความหมาย” จะถูกอธิบายอย่างไร? b-holder EP นี้ พูดคุยกับ นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ถึงสารพัดข้อสงสัย และร่วมกันหาคำตอบว่าทำไม Soft Power ถึงเป็นนโยบายที่ต้องทำให้สำเร็จให้เร็วที่สุด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถือเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญของประวัติศาสตร์ไทย เมื่อประชาชนจำนวนมากรวมใจกันล้ม จอมพล ถนอม กิตติขจร และเครือข่าย เป็นชัยชนะของประชาชนในแบบที่ไม่มีใครคาดคิดว่า ‘เผด็จการ’ ที่ดำรงตำแหน่งยืนยาวขนาดนั้น จะถูกล้มได้ง่ายเพียงนี้ ก่อนจะถึงวันที่ 14 ตุลาฯ คำถามสำคัญก็คือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้จอมพลถนอมแข็งแกร่งได้เพียงนั้น สิ่งที่ประกอบสร้าง ‘ระบอบถนอม’ คืออะไร แล้วเพราะเหตุผลใด 14 ตุลาฯ ถึงสามารถจัดการกับจอมพลถนอมได้ราบคาบ b-holder Podcast ชวน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เขียนหนังสือ ‘เนื้อในระบอบถนอม’ วิเคราะห์ ‘ไส้ใน’ ของระบอบเผด็จการเมื่อ 50 ปีก่อน ว่ามีลักษณะพิเศษอะไร แล้วเพราะอะไร ระบอบทหารที่ฝังรากลึกถึงได้พ่ายต่อพลังของปวงประชาได้
การเติบโตของเกาหลีใต้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเป็นเรื่องอันอัศจรรย์ เพราะหากเทียบเคียงประวัติศาสตร์ว่าด้วย ‘การเมือง’ แล้ว เกาหลีใต้แทบจะ ‘ล้ม ลุก คลุก คลาน’ ไปพร้อมกับไทย หากไทยมีการรัฐประหาร เกาหลีใต้ก็มีอยู่หลายครั้ง และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บาดแผลในกวางจู ก็สร้างรอยช้ำไม่แพ้เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ในประวัติศาสตร์ไทย คำถามสำคัญก็คือ แล้วเกาหลีใต้เข้าไปสู่จุดที่การเมือง ‘สงบนิ่ง’ เศรษฐกิจเริ่มเจริญเติบโตได้อย่างไร คำถามสำคัญก็คือ ด้วยเหตุและปัจจัยอะไรที่ทำให้เกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศชั้นนำทางอุตสาหกรรม แม้จะเกิดเหตุวุ่นวายหลายครั้งหลายคราก็ตาม
“ตั้งแต่อภิวัฒน์สยาม 2475 จนถึงวันนี้ เราไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นที่รวมตัวกันของคนไปลง ส.ส. เก็บจำนวน ส.ส.ให้เยอะๆ แล้วก็ไปแลกตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น” จากพรรคอนาคตใหม่มาถึงพรรคก้าวไกล วันนี้เป็นการเดินทางยาวนาน 6 ปี ของพรรคการเมืองน้องใหม่ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า เกิดขึ้นเพื่อ ‘เปลี่ยน’ ภูมิทัศน์การเมืองไทยให้หลุดพ้นจากสิ่งเก่าๆ บางคนบอกว่า พวกเขาเป็นพวกอ่อนหัด ไม่เข้าใจโลกของความเป็นจริง ขณะที่อีกหลายคนเห็นว่า พวกเขา ‘อันตราย’ เกินไป จนกลายเป็นสาเหตุที่พวกเขาไม่อาจเป็นรัฐบาลได้ แม้จะได้รับคะแนนนิยมสูงสุดในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่บอกว่าเขา ‘เตรียมพร้อม’ ไว้ทั้งหมดแล้ว และหากพูดถึงแผนที่เขาวางไว้ เรื่องทั้งหมดมาเร็วกว่าที่คิด และการเปลี่ยนแปลงที่เขาหวังไว้ วันนี้มาได้ถึง ‘ครึ่งทาง’ แล้ว b-holder Podcast ชวนปิยบุตรคุยยาวๆ ย้อนอดีตไปถึงวันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันของพรรคก้าวไกล และอนาคตการเมืองที่เขาวาดหวังไว้
เมื่อ 18 ปีก่อน รถยนต์แดวู เอสเปอโร จอดอยู่ใต้สะพานบางพลัดพร้อม ‘ระเบิด’ เต็มคันรถ หมายมุ่งสังหาร ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำประเทศ หากระเบิดนั้นทำงานจริง รัศมีของระเบิดจะกินพื้นที่กว่า 1 กิโลเมตร วัตถุที่อยู่รอบๆ 40-50 เมตร จะถูกแรงระเบิดจนพังพาบทั้งหมด และอาจมีผู้เสียชีวิตหลักร้อยคน รวมถึงทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป้าสังหารสำคัญ แต่เมื่อระเบิดไม่ทำงาน กระบวนการสาวหาผู้กระทำความผิดและ ‘พล็อต’ ทั้งหมดก็ตามมา แน่นอนว่าผู้ก่อเหตุเป็นทหาร พร้อมให้ปากคำที่หลายคนหัวเราะเยาะว่า หากระเบิดไม่สำเร็จ จะมีการทำรัฐประหารตามมา ทว่าหลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือนการรัฐประหารก็เกิดขึ้นจริง
จนถึงวันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าระบอบ 3 ป. ที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ครองอำนาจยาวนานเกือบหนึ่งทศวรรษ ได้ใกล้จุดอวสานเข้าไปทุกที จากผลการเลือกตั้งที่ย่ำแย่ และไม่ว่าจะรวมเสียงอย่างไร ก็ยากที่จะดึง 3 ป. กลับมาให้เป็นปึกแผ่นเหมือนเดิมได้ ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราพาย้อนกลับไปเพ่งพินิจการกำเนิดของระบอบนี้ จุดพีคของทั้งสาม และความขัดแย้งที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ และชวนคิดถึงหน้าตาของ ‘อนุรักษนิยม’ แบบใหม่ ที่กำลังก่อตัวขึ้น ว่าจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ปี 2551 เป็นปีที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 1 ปี เรามีนายกฯ ถึง 4 คน มีการพลิกขั้วทางการเมือง มีโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหาร มีการต่อสู้กันของ ‘การเมืองมวลชน’ เหลือง-แดง ที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไปใหม่ และจบท้ายปีด้วยเหตุการณ์ ‘ยึดสนามบิน’ และยุบพรรคการเมือง ใช้ตุลาการภิวัฒน์เพื่อแก้วิกฤต ที่สุดท้ายก็วิกฤตอยู่ดี b-holder พาย้อนเวลากลับไปยังห้วงเวลาที่ลุ้นระทึกและพิสดารที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย พร้อมกับหาเบื้องหลังเบื้องหน้า ไม่ให้ประวัติศาสตร์กลับไปซ้ำรอยอีก
หาก ‘ถือหุ้นสื่อ’ ไม่เป็นเงื่อนไขต้องห้ามของ ส.ส. และเกี่ยวพันกับตำแหน่ง นายกฯ ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามรัฐธรรมนูญ ณ วันนี้ ก็คงไม่มีใครเชื่อว่า ‘ไอทีวี’ ยังคงเป็น ‘สื่อ’ อยู่ เพราะจุดสิ้นสุดของไอทีวีนั้นจบลงอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อ 16 ปีก่อน และเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ไทยพีบีเอส’ เอาเข้าจริงเรื่อง ‘ไอทีวี’ ถือเป็นตัวบ่งบอกฉากต่างๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ดี… ไอทีวี เกิดจากเสียงเรียกร้องของประชาชนจากเหตุการณ์ ‘พฤษภาฯ 2535’ เรียกร้องหาช่องโทรทัศน์ที่ ‘รัฐ’ ไม่ได้ครอบงำ เริ่มประมูลสัมปทานในช่วงเศรษฐกิจบูม ก่อนจะประสบปัญหาช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ กลายเป็นโทรทัศน์ของ ‘กลุ่มทุน’ ที่เกี่ยวโยงกับการเมืองโดยตรงหลังจากนั้น และถูกยึด ถูกทุบโดยฝ่ายตรงข้ามจนไม่เหลือสภาพ เป็นการปิดฉากทีวีเสรี B-holder ชวนย้อนฟังตำนานอันอาภัพของช่องโทรทัศน์ช่องนี้ เพื่อทำความเข้าใจสถานภาพสื่อของไอทีวี ตั้งแต่วันเริ่มต้นจนถึงจุดจบ… ในวันที่สังคมตั้งคำถามว่า ไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่?
ย้อนกลับไปช่วงเดือนพฤษภาคม 2549 ช่วงเวลาที่การเมืองไทยร้อนแรงที่สุด พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำลังตะโกน ‘ท้ากษิณออกไป’ ข่าวว่าด้วย ‘ปฏิญญาฟินแลนด์’ ก็ผุดขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เรื่องเริ่มจาก ‘พล็อต’ ในเวทีพันธมิตรฯ และบทความในหนังสือพิมพ์ว่า ทักษิณพร้อมกับกลุ่ม ‘คนเดือนตุลาฯ’ ที่ตั้งพรรคไทยรักไทย ใช้เวลาก่อนตั้งพรรคไปล่องเรือสำราญที่ ‘ฟินแลนด์’ และมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะ ‘พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน’ เช่น จะทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดียวให้ได้ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น ข่าวนี้ไม่ได้มีที่มาที่ไป ไม่ได้มีหลักฐานอื่น นอกจากมีกลุ่มคน ‘ได้ยิน’ เรื่องนี้ขึ้นมา ก่อนลากเส้นต่อจุด จนกลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่ชนชั้นนำแอบเชื่อ และนำไปสู่การรัฐประหารในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ผ่านมา 17 ปี ตัวละครในปฏิญญาฟินแลนด์ทั้งฝ่ายเริ่มเรื่องและฝ่ายถูกกล่าวหา ยังอยู่ครบถ้วนและยังโลดแล่นอยู่ในการเมืองไทยราวกับเรื่องนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน b-holder ชวนย้อนฟังที่มา และตำนานของ ‘ปฏิญญาฟินแลนด์’ พร้อมกับทำความเข้าใจกระบวนการสร้าง ‘ข่าวลือ’ โดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเฉพาะ
ว่ากันว่าช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง มักจะมีปรากฏการณ์แปลกๆ เสมอ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าในช่วงนี้ประชาชนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจแล้วว่าจะ ‘เลือก’ หรือ ‘ไม่เลือก’ อะไร ดังนั้นพรรคที่คะแนนต่ำกว่าต้องหาทางจัดการพรรคที่คะแนนสูงกว่า และพรรคที่คะแนนสูงกว่าก็ต้องรักษาระดับเดิมไว้ ไม่ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกิดเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย ด้วยเหตุนี้แคมเปญในช่วงสองสัปดาห์หลังจึงมีความหมายอย่างมาก แต่ละพรรคต้องงัดกระบวนท่าแปลกๆ เพื่อดึงดูดบรรดาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงให้เปลี่ยนใจมาเลือกตัวเองให้ได้ และวิธีที่คลาสสิกที่สุดก็คือการบอกว่า ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’ b-holder สัปดาห์นี้ พาไปสังเกตการณ์อดีตของการหาเสียงด้วยวิธีดังกล่าว พร้อมทั้งพูดถึง ‘ผลลัพธ์’ ซึ่งอาจเป็นตัวบอกว่าในช่วงสองสุดท้ายนี้ เราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลายเป็นตำบลกระสุนตก เมื่อหลายเรื่องประดังประเดเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกรณี ‘เว็บล่ม’ ในคืนสุดท้าย ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากลงทะเบียนไม่ทัน หรืออยู่ดีๆ ก็เกิดต้องไปดูงานต่างประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และทำให้ประชาชนหลายคนไม่มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ กกต.ถูกวิจารณ์ หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไป เรามีทั้ง กกต.ติดคุก กกต.ที่ถูกกล่าวหาว่ารับคำสั่ง กระทั่ง กกต.ที่ไม่อยากจัดการเลือกตั้ง ขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ b-holder สัปดาห์นี้ชวนย้อนประวัติศาสตร์ของ กกต. ตั้งแต่ที่มา เรื่องครหา และความด่างพร้อย เพื่อเตรียมพร้อมจับตามองการเลือกตั้งรอบนี้ว่าจะมีเรื่องอะไรแปลกๆ อีกหรือไม่
การจัดอันดับ ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ นับเป็นพิธีกรรมหนึ่งนับตั้งแต่มีสิ่งนี้ขึ้นในสารบบการเมืองไทย ปาร์ตี้ลิสต์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลบภาพของ ‘เจ้าพ่อ’ ‘หัวคะแนน’ และ ‘กระสุน’ ในการเมืองไทย พาบรรดามืออาชีพเข้าสู่สนามการเมืองมากขึ้น ทว่านวัตกรรมนี้กลับกลายเป็นหนทางใหม่ของเจ้าของมุ้งและนายทุน เพื่อเข้าสู่ระบบการเมืองโดยที่ไม่ต้องออกแรงมากนัก ทุกๆ การเลือกตั้ง การจัดลำดับปาร์ตี้ลิสต์มีทั้งคนสมหวังและคนผิดหวัง เพราะการจัดลำดับย่อมหมายถึงหากพรรคไม่มีกระแสมากพอ ได้เสียงไม่มากพอ ก็หมายถึงการลงทุนนั้นสูญเปล่า b-holder สัปดาห์นี้ชวนดูเกมการเมืองว่าด้วยการใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์ให้เป็นประโยชน์ พร้อมกับวิเคราะห์ว่าลำดับปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นี้ กำลังส่อนัยอะไรในการเมืองไทย
​​ภาพจำที่คุณมีต่อ บรรหาร ศิลปอาชา เป็นอย่างไร เป็นนายกรัฐมนตรีร่างเล็กที่พูดเสียงดัง เป็นนักการเมืองที่ร่วมรัฐบาลได้ตลอด เป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘สุพรรณบุรี’ หรือเป็นทุกอย่างรวมกัน หากย้อนกลับไป บรรหาร ศิลปอาชา คือหนึ่งชื่อที่เปลี่ยนการเมืองไทย… คนธรรมดาๆ คนหนึ่งจากสุพรรณบุรีที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจก่อสร้าง วันหนึ่งกลับ ‘ยึด’ พรรคชาติไทย พรรคของขุนทหาร จนประสบความสำเร็จได้เป็นนายกรัฐมนตรี และในอีกแง่หนึ่ง ชื่อของบรรหารก็มาด้วยความเป็น ‘ท้องถิ่นนิยม’ ยากยิ่งนักที่บ้านเกิดนายกรัฐมนตรีสักคนจะเจริญงอกเงย มีถนนหนทางดีแบบสุพรรณบุรี ภูมิลำเนาของบรรหาร แต่ทั้งหมด ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ เมืองไทย ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่ ทั้งในความแพรวพราวของเกมการเมือง ที่มักจะพาพรรค ‘ร่วมรัฐบาล’ ได้ทุกรอบ ไปจนถึงความเป็นต้นตำรับการเมืองแบบเก่าที่ไม่ได้สร้างมรรคผลอะไรให้คนรุ่นหลังมากนัก b-holder พาไปสำรวจเส้นทางของบรรหาร ทาบกับการเมืองไทยในปัจจุบัน ว่าตัวเขา และเส้นทางของตระกูลศิลปอาชา ได้สะท้อนสัจธรรมและสร้างตำนานอะไรให้กับการเมืองไทยบ้าง
​​หากย้อนเรื่องราวกลับไปในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ ‘กบฏ 20 มีนาคม 2520’ นำโดย พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก ยังเป็นความพยายามรัฐประหารที่มี ‘ปริศนา’ เกิดขึ้นหลายประการ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของแรงจูงใจ เบื้องหลัง และเรื่องราวต่างมุมที่แวดล้อมเหตุการณ์สำคัญอย่างการสังหาร พลตรี อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กลางกองบัญชาการของคณะรัฐประหาร ที่ทำให้การยึดอำนาจแบบลับๆ ครั้งนี้ กลายเป็นการรัฐประหารที่ล้มเหลว เพราะมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เสียชีวิต หลังเหตุกบฏเพียงไม่ถึงเดือน จากคนที่เคยเป็นว่าที่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ลั่นไกสังหารนายพลก็กลายเป็นนักโทษ และในที่สุดกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่อย่างรวดเร็ว จบลงที่ ‘แดนประหาร’ โดยไม่มีใครคาดคิดด้วยคำสั่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ด้วยคำที่พลเอกฉลาดพูดตลอดเวลาก่อนเสียชีวิตว่าถูก ‘หักหลัง’ b-holder พาไปสำรวจช่วงเวลาก่อนที่อดีตรองผู้บัญชาการทหารบกจะกลายเป็นนักโทษประหาร และหาคำตอบของบรรดาปริศนาอันซับซ้อนในเหตุการณ์กบฏ 20 มีนาคม 2520 ว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง และใครหักหลังใครกันแน่
การเมืองแบบ ‘เจ้าพ่อ’ และ ‘บ้านใหญ่’ ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่อยู่คู่กับประชาธิปไตยแบบไทยๆ มาหลายทศวรรษ การถือกำเนิดของบ้านใหญ่มาจากการ ‘อุปถัมภ์’ ทั้งตัวบุคคล ชุมชน และสร้างบารมีจากการสะสมทรัพยากรในจังหวัด สยายปีกไปยังการทำธุรกิจต่างๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็ลงสนามการเมือง ทำให้หลายนามสกุลอยู่คู่กับสนามการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติมาอย่างยาวนาน ตัวอย่างการเมืองแบบบ้านใหญ่คือตระกูล ‘คุณปลื้ม’ ของจังหวัดชลบุรี ตระกูล ‘เทียนทอง’ ของจังหวัดสระแก้ว และตระกูล ‘สะสมทรัพย์’ ของจังหวัดนครปฐม ที่หากย้อนประวัติกลับไป ตระกูลเหล่านี้อยู่คู่กับการเมืองในแต่ละจังหวัดมานานกว่า 3-4 ทศวรรษ และ ณ ปี 2566 ก็ยังคงเวียนว่ายอยู่ในการเมืองไทย มิหนำซ้ำ บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังคงวิเคราะห์ว่าคนนามสกุลเหล่านี้ยังมีโอกาสเป็น ส.ส. ต่อไปได้อีกเรื่อยๆ b-holder ชวนฟังต้นกำเนิดของ ‘บ้านใหญ่’ ว่าเพราะเหตุใดจึงอยู่คู่กับการเมืองไทยมาแบบฝังแน่น ไปจนถึงวิวัฒนาการการสะสม ‘ทุน’ การสร้างระบบอุปถัมภ์ กระทั่งการดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ว่าเพราะเหตุใด ไม่ว่าระบบการเมืองจะเป็นแบบ ‘เผด็จการ’ หรือ ‘ประชาธิปไตย’ บ้านใหญ่ ก็ยังมีที่ทางอยู่เสมอ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” เป็นถ้อยความสั้นๆ ที่ ‘ทรงพลัง’ และกลายเป็นจุดศูนย์กลางท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองยุคใหม่ อันที่จริงหากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ความผิดฐาน ‘ดูหมิ่น’ พระมหากษัตริย์นั้นไม่ได้แน่นอน ทว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามแต่สถานะของพระมหากษัตริย์ในเวลานั้นๆ ทั้งในห้วงเวลาที่ทรงเป็น ‘สมมติเทพ’ ในเวลาที่พาสยามเข้าสู่สมัยใหม่ หรือ ณ เวลาที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ความรุนแรงของโทษล้วนมีพลวัตขึ้นลงเสมอ กล่าวสำหรับปัจจุบัน สถานะของมาตรา 112 ดูจะ ‘รุนแรง’ ที่สุด เป็นผลพวงโดยตรงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งยังส่งผ่านมาถึงวันนี้ และเป็นจุดสูงสุดในแง่ของการฟ้องร้อง จำนวนคดี และอัตราโทษที่รุนแรง ไปจนถึงการผูกไว้กับเรื่องความมั่นคง ส่งให้คดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรานี้พุ่งเกิน 200 คดี และยังไม่มีจุดสิ้นสุด ยังไม่มีตอนจบง่ายๆ b-holder ชวนย้อนกลับไปมองอดีตของมาตรา 112 รวมถึงข้อถกเถียงที่มีต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้ และหาคำตอบว่าเพราะเหตุใด มาตรา 112 จึงเป็นศูนย์กลางของความยุ่งเหยิงในการเมืองไทยสมัยใหม่
loading
Comments (2)

Suhaimin Saleh

เชียร์ทำต่อไปครับ เห็นเงียบๆ

Jul 7th
Reply

Mon Sai Mon

မ်ိဳႀကီး

Oct 30th
Reply
Download from Google Play
Download from App Store