Discover
The Cloud Podcast
![The Cloud Podcast The Cloud Podcast](https://is1-ssl.mzstatic.com/image/thumb/Podcasts114/v4/e0/3e/eb/e03eebd3-6579-beed-a7ec-8071edb79013/mza_10103718487941719322.jpg/400x400bb.jpg)
719 Episodes
Reverse
คุยเรื่องซูชิเบื้องต้นกับ เชฟแรนดี้ นพประภา เชฟซูชิแห่งร้าน Fillets มือปั้นซูชิอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย สอนวิธีกินซูชิ เข้าใจเรื่องปลาและหน้าต่าง ๆ ของซูชิ รู้จักส่วนผสมของข้าวซูชิ และแนะนำทริกการกินที่จะช่วยทำให้เรากินซูชิได้สนุกขึ้น
ประมวล เพ็งจันทร์ เป็นชื่อที่หลายคนรู้จักในฐานะนักปรัชญา อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้ใช้ธรรมะนำทางชีวิต นักเขียนที่ฝากผลงานทรงคุณค่ามากมาย และการออกเดินทางไปข้างนอกเพื่อกลับสู่ข้างในจิตใจ ด้วยการเดินเท้าจากเชียงใหม่กลับบ้านเกิดที่เกาะสมุย
ย้อนกลับไปในวัยเยาว์ เด็กชายประมวลเคยมีความฝันอยากเป็นเถ้าแก่สวนยาง แต่โชคชะตาพลิกผันเมื่อไฟไหม้สวนยางของครอบครัวจนฝันมอดดับ ตั้งแต่นั้นเขากลายเป็นกรรมกรที่ต้องดิ้นรนทำงานหนักเพื่อความอยู่รอดโดยไร้ซึ่งความฝันและจุดหมายใด ๆ ในชีวิต ถึงหลายคนอาจมองว่าเขาเข้าสู่เส้นทางธรรมอย่างเรียบง่าย แต่ชีวิตของเขาเคยหลงละเลิง เกเร เสเพล จนตัดสินใจห่มผ้าเหลืองโดยไม่ใช่เพราะศรัทธา แต่เพราะต้องการหลีกหนีความกลัว จนกระทั่งไปศึกษาต่อด้านปรัชญาที่ประเทศอินเดีย จนเขาเริ่มเข้าใจชีวิตลึกซึ้งขึ้น และในที่สุด เขาก็ตระหนักว่าคำตอบของความฝันที่แท้จริงไม่ใช่ทรัพย์สินหรืออำนาจ แต่คือ ‘ธรรมะของความเป็นครู’ ความศรัทธาต่อวิชาชีพนี้ผลักดันให้เขาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทุ่มเทให้ลูกศิษย์มากกว่าการแสวงหาตำแหน่งหรือลาภยศ
มองเผิน ๆ อาจเหมือนคนที่เข้าใจโลกและต้องการบรรลุธรรม แต่เมื่อมีคำถามให้เลือกระหว่างนิพพานกับภรรยา เขาขอเลือกภรรยาและไม่ปรารถนาจะโต้เถียงเรื่องนิพพานอีกต่อไป ขอเชิญชวนทุกคนไปสำรวจความหมายของความรัก ธรรมะ และชีวิต ในแบบของ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ กันได้ในรายการ Coming of Age
ดำเนินรายการ : ทรงกลด บางยี่ขัน
#ประมวลเพ็งจันทร์ #นักปรัชญา #อาจารย์ประมวล #ประมวลความคิด #การเดินทางภายใน #นิพพาน #ความรัก #พุทธศาสนา #ComingofAge #TheCloud #readthecloud #ListentoTheCloud #TheCloudPodcast
คุยเรื่องเมนูปูทะเลศรีลังกา เมนูผัดพริกไทยและเครื่องเทศศรีลังกาอันโด่งดัง รสชาติอาหารที่เปลี่ยนแปลง และวัฒนธรรมที่ได้รับมาจากเจ้าอาณานิคม เช่น การจิบชา ไปจนถึงการปลูกชาซีลอน สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของศรีลังกาที่ส่งต่อมาจากจากยุคอาณานิคม
ดำเนินรายการ : ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา และ จิรณรงค์ วงษ์สุนทร
รายการอารามบอยตอนนี้ ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล ชวนแขกรับเชิญพิเศษ ดร.ตั้ว-ปติสร เพ็ญสุต คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ ครุ่นคริสต์ ใน The Cloud ร่วมเจาะลึกทุกมุมมองของ ‘Jubilee Year 2025 : Pilgrims of Hope’ อีเวนต์ศักดิ์สิทธิ์ระดับโลกของคริสตชนที่จัดขึ้นทุก 25 ปี หรือบางปีอาจมีการประกาศปีพิเศษ (Extraordinary Jubilee) โดยพระสันตะปาปา เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น ปีแห่งพระเมตตาในปี 2016
ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 (Jubilee Year 2025) เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม ปี 2024 (วันคริสต์มาสอีฟ) และสิ้นสุดในวันที่ 6 มกราคม ปี 2026 (วันฉลองพระคริสต์ทรงแสดงองค์) มาในธีมของ ‘บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง’ (Pilgrims of Hope) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในพระเจ้าและการมองไปสู่อนาคตที่สดใสผ่านการร่วมแสวงบุญ ซึ่งจะมีการเดินผ่านประตูศักดิ์สิทธิ์ 4 บานในกรุงโรม อย่างมหาวิหารนักบุญเปโตร (St. Peter’s Basilica) มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน (St. John Lateran) มหาวิหารนักบุญมารีย์ใหญ่ (St. Mary Major) และมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง (St. Paul Outside the Walls) รวมถึงสถานที่สำคัญพื้นที่ของตนเอง โดยในกรุงเทพมหานครกำหนดวัดแสวงบุญ 4 แห่งสำหรับ Jubilee Year 2025 เพื่อให้ผู้ศรัทธาเข้าร่วมและรับพระคุณการุณย์ วัดทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อาสนวิหารอัสสัมชัญ (เขตบางรัก) วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า (บางกอกน้อย) วัดซางตาครู้ส (กุฎีจีน) และวัดนักบุญเปโตร สามพราน (นครปฐม)
การแสวงบุญจะเปิดโอกาสให้คริสตชนเข้าร่วมพิธีกรรม ขอสาสนสารภาพบาป และรับพระคุณการุณย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองทั้งภายในและภายนอก เตือนให้ทุกคนหยุดคิดและหันกลับมาสำรวจตัวเอง เรียนรู้ที่จะให้อภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น
ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 (Jubilee Year 2025) จึงมีความหมายลึกซึ้งมาก ไม่ว่าคุณจะยึดโยงกับศาสนาใด Jubilee Year คือการเชื้อเชิญให้ทุกคนสำรวจเส้นทางชีวิตของตัวเองอีกครั้ง และเราอยากชวนคุณไปเฉลิมฉลองการให้อภัยครั้งสำคัญนี้ในรายการอารามบอย
ดำเนินรายการ : ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
คุณกำลังฟังเรื่องราวของแม่ครัวในตำนานผู้เคยสูญเสียทุกอย่างเพราะไฟ สู่หนึ่งในผู้ที่ใช้ไฟได้เก่งที่สุดในประเทศ เจ๊ไฝ-สุภินยา จันสุตะ ราชินีสตรีตฟู้ดที่นักชิมทั่วโลกรู้จักเธอดีจากเมนูไข่เจียวปู ผัดขี้เมาทะเล และอีกมากมาย ซึ่งทำให้เธอคว้าดาวมิชลินมาแล้วถึง 8 ปีซ้อน
ไม่นานมานี้มีเสียงฮือฮาว่าร้านเจ๊ไฝกำลังจะปิดตำนาน ทุกคนจะไม่ได้เห็นการผัดอาหารในเครื่องแบบเต็มยศทั้งแว่น ปลอกแขน และกำไลข้อมือสีทองอีกแล้ว The Cloud ได้มีโอกาสมาพูดคุยกับเจ๊ไฝถึงที่บ้าน ชวนเธอคุยเรื่องราวแสนสาหัสตั้งแต่วัยเยาว์ มุมมองที่มีต่อความยากจน การทำอาชีพช่างเย็บผ้าแล้วบ้านไฟไหม้จนหมดตัว แถมตึกที่ผ่อนมาหลายสิบปีกลับเป็นชื่อคนอื่น และการล้มอีกนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงความสนใจในอาหาร การค้นหาสูตร ลองผิดลองถูก จนกลายเป็นร้านเจ๊ไฝประตูผีแสนโด่งดังในปัจจุบัน
เจ๊ไฝผู้ยืนหยัดผัดอาหารตั้งแต่ 9 โมงจนถึงทุ่มครึ่ง หยุดพักเข้าห้องน้ำเพียงครั้งเดียวติดต่อกันมากว่า 40 ปี ในวันนี้เธออายุ 80 ปี และเริ่มวางแผนการวางตะหลิว ปิดตำนานเมนูอาหารที่ไม่มีใครมาทำแทนได้ แต่ไฟอันร้อนแรงในใจของเธอยังลุกโชน แถมแนวคิดเรื่องการสูงวัยของเธอก็สร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี ชวนไปฟังได้ในรายการ Coming of Age รอบนี้
ดำเนินรายการ : ทรงกลด บางยี่ขัน
คุยเรื่องตลาดสดศรีลังกาและตลาดใหญ่ที่สุดในเมืองหลวง สำรวจวัตถุดิบ เช่น ปลา ผัก ผลไม้ ที่มีความหลากหลายและเจอได้เยอะเฉพาะประเทศแถบมหาสมุทรอินเดีย เดินชิมอาหาร-เครื่องดื่มจากร้านข้างทาง
ดำเนินรายการ : ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา และ จิรณรงค์ วงษ์สุนทร
หากพูดถึงวงการเศรษฐกิจไทย ชื่อของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ คงขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้งและทำงานในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เช่น ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ร่วมถึงยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานอ่านสนุกอย่างน่าเหลือเชื่อ
วัยเด็กของเขาย้ายบ้านอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจาก เชาวน์ สายเชื้อ คุณพ่อของเขาเป็นนักการทูต ศุภวุฒิในวัยเยาว์เลยได้อยู่ห้องข้างหลังสถานทูตในนิวซีแลนด์ เขาเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ที่นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และฮาวาย จนได้ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก แต่ต้องลาออกจากการเป็นทูตเพราะคาดการณ์ว่าอนาคตบทบาทนักการทูตจะลดลง จึงหันมาทำงานในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาตอบตกลงเป็นเลขาของ ทักษิณ ชินวัตร และการกลับมาถวายชีวิตให้กับงานที่บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด ที่ต้องตื่นตี 5 ทุกวันและทำงานหนักทั้งอาทิตย์
หลังทำงานหนักจนน้ำหนักขึ้นและเริ่มป่วย เขาก็เริ่มหาวิธีดูแลตัวเองเหมือนกับคนอื่นในวัยเดียวกัน แต่ความพิเศษที่แตกต่าง คือการใช้หลักการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณว่าลงทุนกับตัวเองเท่าไหร่ จะได้ผลเท่าไหร่ ด้วยการใช้ตัวเองเป็นหนูทดลอง จนกลายเป็นหนังสือ Live Strong Live Long : ลงทุนในสุขภาพ ซึ่งให้แนวคิดการดูแลสุขภาพวิธีต่าง ๆ ที่สรุปเรื่องยากเป็นหลักการง่าย ๆ คนทั่วไปเข้าใจได้ เช่น การวิ่ง 1 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มอายุได้ถึง 7 ชั่วโมง และถึงแม้ว่าอายุจะเพิ่มมากขึ้น แต่เขายังคงหมั่นดูแลสุขภาพ มีความสุขกับงานอดิเรกด้วยการขี่บิ๊กไบค์ และมุ่งมั่นทำงานต่อไปโดยอายุหยุดยั้งเขาไม่ได้เลย
ดำเนินรายการ : ทรงกลด บางยี่ขัน
คุยกับ เชฟก้อง-ก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร เชฟและซอมเมอลิเยร์หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องไวน์จาก The Pairsmith โปรเจกต์ใหม่ที่จะช่วยจับคู่ไวน์ให้เหมาะสมกับร้านอาหาร จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ Wine Pairing 101 ว่าไวน์ช่วยให้เรากินอาหารอร่อยขึ้นได้อย่างไร พร้อมแนะนำวิธีเลือกไวน์ให้เหมาะกับอาหาร
คุยเรื่อง ‘เครื่องเทศ’ สินค้าอันดับต้น ๆ ที่ทำให้หลายชาติอาณานิคมอยากเข้ามาตามหาสินค้าชนิดนี้ รสและกลิ่นอันมีเสน่ห์ของเครื่องเทศอยู่ในอาหารศรีลังกาตั้งแต่จานหลัก ของหวาน รวมไปถึงเครื่องดื่ม เช่นเดียวกันกับน้ำมันมะพร้าวและกะทิ หัวใจของแกงแบบศรีลังกา กับประสบการณ์การเปิบข้าวแกงด้วยมือที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมการกินอาหารด้วยทุกสัมผัสของมนุษย์
ดำเนินรายการ : ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา และ จิรณรงค์ วงษ์สุนทร
เทศกาลตรุษจีนเป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยเชื้อสายจีน (และไทยแท้) นิยมเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการไปวัดเพื่อไหว้พระ ขอพรให้ชีวิตราบรื่น และเสริมโชคดี โดยเฉพาะที่ ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ หรือ วัดมังกรกมลาวาส วัดจีนที่มีความสำคัญในกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเยาวราช ศูนย์กลางของชุมชนชาวจีนในไทย
ภายในวัดเล่งเน่ยยี่นอกจากจะมีศิลปกรรมแบบจีนที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) เจ้ากรมท่าซ้ายผู้ดูแลการค้าขายทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับชาวจีนซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนนิกายมหายาน โดดเด่นด้วยรูปแบบวัดที่แบ่งออกเป็น 3 วิหาร คือวิหารท้าวจตุโลกบาล วิหารพระประธาน (พระศากยมุนีพุทธเจ้า) และวิหารบูรพาจารย์ ที่ยังมีเทพเจ้าหลายองค์ เช่น ไท้ส่วยเอี๊ย เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา ไฉ่ซิงเอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ คนจึงนิยมมาขอพรและแก้ชงกันในช่วงต้นปี
รายการอารามบอยตอนนี้จะพาไปเยือนวัดเล่งเน่ยยี่ เรียนรู้เรื่องศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ศิลปกรรมและพิธีกรรมแบบจีน เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาทของเทพเจ้าและการแก้ชง พร้อมเจาะลึก 7 เรื่องที่คนทั่วไปไม่รู้เกี่ยวกับวัดจีนอายุนับร้อยปีแห่งนี้
ดำเนินรายการ : ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
พูดคุยเรื่องแนวโน้มของอาหารปี 2025 ที่ เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ และ เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ คิดว่าคนทำอาหารควรเข้าใจแก่นที่แท้จริงในการทำอาหารและบริการลูกค้า และคุยกันเรื่องความหมายที่แท้จริงของ Fine Dining ที่คนมักเข้าใจผิดว่าคือรูปแบบหรือสไตล์ แต่ที่จริงมีความหมายที่มากกว่านั้น
ดำเนินรายการ : เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ และ เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ
โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ (Dusit Thani Bangkok) เคยได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นโรงแรมแห่งแรกที่ไม่สร้างขนานกับถนนพระรามที่ 4 และครองตำแหน่งโรงแรมไทยแท้แถวหน้าของประเทศมากว่า 50 ปี ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล มาเปิดห้องให้ The Cloud เข้าชม และพูดคุยถึงวิธีสร้างดุสิตธานีตั้งแต่วันแรกจนถึงการปิดปรับปรุงตลอด 5 ปีที่ผ่านมาด้วยงบเกือบ 5 หมื่นล้านบาท และกลับมาในโฉมใหม่ที่แก้ไขตั้งแต่โครงสร้าง
จากความตั้งใจของคุณแม่ (ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย) ที่ต้องการสร้างโรงแรมของคนไทยไปแข่งขันกับมาตรฐานสากล ชนินทธ์ในวัยเยาว์จึงได้ติดตามไปคุยเรื่องการวางแผนโรงแรมกับสถาปนิกที่ญี่ปุ่น วิ่งเล่นที่ไซต์งานก่อสร้าง และถึงแม้จะโดนส่งไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 13 ปี แต่ด้วยความผูกพันกับโรงแรมแห่งนี้ จึงตั้งใจกลับมาสานต่อกิจการ ตั้งแต่วันที่เข้ามาดูแลโรงแรมอย่างเต็มตัว จนถึงวันนี้ในวัย 68 ปี ชนินทธ์ยังยอมรับว่ากลัวและท้าทายในการดูแลดุสิตธานี ทำยังไงถึงจะให้โรงแรมใหม่นี้ผูกพันกับคนไทย การปรับตัวในสนามแข่งขันกับเครือโรงแรมระดับโลกต้องทำอย่างไร ไปติดตามชม
ดำเนินรายการ : ทรงกลด บางยี่ขัน
ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ พัฒน์ บุญนิพัฒน์ กำกับคือ หลานม่า ที่กำลังสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อได้รับคัดเลือกให้ติด 1 ใน 15 ภาพยนตร์ที่ผ่านเข้ารอบรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (ACADEMY AWARDS / BEST INTERNATIONAL FEATURE FILM SHORTLIST) จากทั้งหมด 85 เรื่อง หลังจากที่เคยสร้างปรากฏการณ์น้ำตาท่วมโลกโดยไร้ข้อจำกัดทางภาษาและวัฒนธรรม แม้กระทั่ง Frances Fisher จาก ไททานิค ยังรอสวมกอดและชื่นชมนักแสดงและผู้กำกับตัวต่อตัว
The Cloud กลับมาคุยกับพัฒน์อีกครั้งว่าการส่งหนังให้ไปถึงออสการ์มีกระบวนการอย่างไร และดึงลิ้นชักชีวิตในแต่ละวัยมาเปิดดูถึงที่มาของผู้กำกับระดับโลกคนใหม่ จากจุดเริ่มต้นเด็กนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS ที่ประเทศรัสเซีย การเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานธีสิสของรุ่นพี่ที่ไปเตะตา ย้ง ทรงยศ จนได้เป็นมือขวาพี่ย้งที่นาดาวบางกอก จากตากล้องผันตัวออกมาทำสารคดี กำกับซีรีส์ สู่ผู้กำกับภาพยนตร์ และอีกมุมของชีวิตที่ทำธุรกิจขายกระจกกับครอบครัวไปพร้อมกับวางแผนก้าวถัดไปบนเส้นทางผู้กำกับ
และชวนทุกคนส่งกำลังใจให้ทีมงาน GDH กับการประกาศผลภาพยนตร์ 5 เรื่องสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2568 และงานประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศ จะจัดขึ้นในวันที่ 2 มีนาคมนี้ ให้ภาพยนตร์ไทยได้ออกเดินทางไปไกลยิ่งกว่าที่เคย
ดำเนินรายการ : ทรงกลด บางยี่ขัน
นี่เป็นอีกครั้งที่ เฌอปราง อารีย์กุล กลับมาเยือนรายการ Coming of Age เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมาชีวิตของเธอเกิดอะไรขึ้นมากมายเหลือเกิน นอกจากจะเป็นที่ฮือฮาในการรับบทโหดสุด ๆ อย่างวัยเด็กของครูพนอ ในเรื่อง พนอ ที่กำลังจะเข้าโรงฉายในวันครูที่ 16 มกราคมนี้ อดีต แคปเฌอ ของทุกคนกำลังจะยุติบทบาทการเป็นผู้จัดการวง BNK48 เพื่อไปพักผ่อนที่ญี่ปุ่นด้วยการเรียนต่อปริญญาโทด้าน Management โดยเฉพาะ (ดูเป็นวิธีพักผ่อนสไตล์เฌอปรางเสียจริง)
อัปเดตชีวิตในวงการเกือบ 10 ปีของเธอ รวมถึงวันที่ท้อถอยแต่ยังมี แอดมินเอ เพื่อนสนิทและผู้จัดการส่วนตัวที่คอยผลักดันให้เฌอปรางกลับมาฮึดสู้ พร้อมก้าวถัดไปของชีวิตที่รับปากว่าจะยังโลดแล่นในเวทีนี้ต่อไป เพียงแค่จะเปลี่ยนมาสายการแสดงมากขึ้น
ดำเนินรายการ : ทรงกลด บางยี่ขัน
The Cloud และรายการ ‘อารามบอย’ อยากชวนเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสิ่งดี ๆ ด้วยการพาไปเที่ยว ‘วัดพระแก้ว’ หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สถานที่ไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคล มีทั้งความอลังการของสถาปัตยกรรม เป็นสถานที่ที่รวมประวัติศาสตร์ ศิลปะ และความศักดิ์สิทธิ์ไว้ครบถ้วน
พร้อมปักหมุด 9 จุดไฮไลต์ห้ามพลาด ไขความลับพระแก้วมรกตทำจากอะไร ความพิเศษของพระแก้วมรกตที่ไม่เหมือนพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ชมงานศิลป์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของธรรมะและอธรรม และจิตรกรรมฝาผนังยาวที่สุด ก่อนแวะปราสาทนครวัดจำลองที่เกิดจากความพยายามของรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้นำปราสาทนครวัดมาไว้ที่นี่
พาทัวร์โดย ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล แฟนพันธุ์แท้วัดไทย และเขาเตรียมเคล็ดลับการไปเที่ยววัดพระแก้วเพื่อให้เดินชมความงามได้แบบสบาย ๆ มาฝากด้วย
ดำเนินรายการ : ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
นาทีนี้วงการอาหารไทยคงไม่มีใครไม่พูดถึง เชฟไอซ์-ศุภักษร จงศิริ เจ้าของร้าน ศรณ์ (Sorn) ที่พาอาหารปักษ์ใต้แท้ ๆ ไปคว้า 3 ดาวจาก MICHELIN Guide สำเร็จ นับเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกของโลก
เชฟไอซ์เกิดในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นนักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของเมืองไทยอย่าง ศุภวัฒน์ จงศิริ (นามปากกา ศุภักษร) และ ปนัดดา โกมารทัต ดารานักแสดงและผู้จัดละคร แต่วัยเด็กของเขากลับคลุกคลีอยู่กับการทำอาหารเสียส่วนใหญ่ เขาเติบโตและซึมซับบรรยากาศในครัวจากร้านอาหารบ้านไอซ์ของคุณย่า (ที่ตั้งชื่อร้านตามชื่อหลานรักของเธอ) เมื่อครั้งที่ไปเรียนสหรัฐอเมริกา เขาเลือกทำงานพาร์ตไทม์ในร้านอาหารเพราะอยากหาเงินไปสังสรรค์ แต่กลายเป็นว่าทำอาหารอร่อยจนได้รับคำชม โดยเฉพาะเมนูไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์รสชาติไทยแท้ เป็นสัญญาณว่านี่อาจเป็นหนทางที่รอเขาอยู่
การกลับไทยเพื่อช่วยคุณย่าในครัวและดูแลร้านควบคู่ไปด้วย เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขารู้ตัวว่าการเป็นเชฟคือตัวตนที่แท้จริงมากกว่าการทำหน้าที่บริหาร ปัจจุบันเชฟไอซ์เปิดร้าน ‘ศรณ์’ (Sorn) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับลูกชายของเขา และมุ่งมั่นจะทำให้ลูกชายภูมิใจ ด้วยการลงใต้เพื่อขอเข้าไปเรียนกับร้านอาหารและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ค้นพบสุดยอดวัตถุดิบจากภาคใต้ส่งตรงถึงร้านทุกวัน ผสานกับกระบวนการปรุงแบบดั้งเดิม เช่น การใช้โม่ เตาถ่าน หม้อดิน และความใส่ใจ จนปัจจุบันร้านศรณ์กลายเป็นจุดมุ่งหมายที่ต้องมากินของนักชิม การันตีด้วย 3 ดาวจาก MICHELIN Guide
ดำเนินรายการ : ทรงกลด บางยี่ขัน
แนะนำ 10 อาหารที่ต้องกิน จาก 10 เทรนด์อาหารและสิ่งที่น่าจับตามองของวงการอาหารไทยในปี 2025 พร้อมแนะนำตัวอย่างแบรนด์อาหารและร้านที่มีอาหารขายตามเทรนด์
00:31 1. Personalized Food
02:08 2. Serious Snacks
04:01 3. Food for Good Sleep
06:19 4. Local Rice
10:08 5. Modernized Local Food
13:01 6. Thai Rice Wine
12:58 7. Hard Kombucha
15:04 8. Superfoods From the Sea
18:11 9. Biodiversity Food
20:34 10. Whole Foods Plant-Based
ติดตามชมรายการ Eat Direction
EP.1 เทรนด์ล่าสุดวงการราเมง
https://youtu.be/msHms2gJhdY?si=K3p4rhUwcsHbk3ZO
EP.2 กินเนื้อยังไงให้อร่อย
https://youtu.be/wxXxxMLz1Wk?si=zNHPiJ0dpYsnbcT5
EP.3 ทำไมกล้าขายไอติมถ้วยละพัน
https://youtu.be/PyNIbT-k4j8?si=2dscX5Qk9JPiXokz
EP.4 Slow Sake เทรนด์เปลี่ยนวงการสาเกญี่ปุ่น
https://youtu.be/HQxmfJYT19M?si=flAnLT56DpLn8tv6
EP.5 เชียงรายกินอะไรดี
https://youtu.be/C4l5KNXIjfk?si=q372etymqx5-4ofB
EP.6 ปัญหาของอาหารอีสาน
https://youtu.be/jxJpJ4n7fz8?si=AJARW0H0Yu-ylpb0
EP.7 ไก่แบบไหนทำข้าวมันไก่อร่อย
https://www.youtube.com/watch?v=cUuQz7Egd_Q
กำกับ : เมธี สมานทอง
ครีเอทีฟ : จิรณรงค์ วงษ์สุนทร
ช่างภาพ : เมธี สมานทอง
ลำดับภาพ : นภาวดี กันยาประสิทธิ์
ควบคุมการผลิต : วรัมพร ศิริสวัสดิ์
แทนที่จะชวนเขาเล่าจุดเปลี่ยนชีวิตแบบปกติ เราชวน จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี หรือ จ๋าย ไททศมิตร ย้อนมองชีวิตตัวเองเป็นละคร
ชีวิตจ๋ายเปลี่ยนไปมากจนแทบจำฉากแรกไม่ได้ จากเด็กชายไร้ฝันที่เต็มไปด้วยรักจากคุณยาย หลงทางไปไกลจนเกือบพรากชีวิตผู้อื่นถึง 2 ครั้ง เข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติทั้งที่สักลายเต็มตัว และเรียนต่อในศาสตร์การแสดงละครเวทีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการมีความฝันและเป้าหมายอย่างจริงจัง กลายเป็นนักร้องนำวงอินดี้เพื่อชีวิต สังกัด Gene Lab ในเครือ GMM Grammy เขาร่วมแสดงในภาพยนตร์ 4KINGS และ วัยหนุ่ม 2544 จนเป็นนักแสดงคนหนึ่งที่น่าจับตามอง
นี่คือหนังชีวิตหลายภาคที่ยังไม่จบ แถมยังเต็มไปด้วยปมขัดแย้งมากมาย ทั้งปัญหาครอบครัว ถูกหักหลัง ความขัดแย้งภายในวง และอีกมากมายที่จ๋ายจะเล่าให้ฟังอย่างหมดเปลือก และเขากำลังจะมีผลงานภาพยนตร์อีกครั้งเรื่อง คุณชายน์ (The Cliche) ซึ่งจ๋ายรับบทบาทเดียวกับที่เคยแสดงในละครเวที รับชมได้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ทุกโรงภาพยนตร์
ดำเนินรายการ : ทรงกลด บางยี่ขัน
รายการ ‘อารามบอย’ ตอนนี้ ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล ชวนไปถ่ายรูปกับต้นคริสต์มาส ปักหมุดชมที่สุดของบรรยากาศคริสต์มาสในกรุงเทพฯ อย่าง ‘ชุมชนกุฎีจีน’ ซึ่งพร้อมใจกันประดับด้วยไฟระยิบระยับ เหมือนเดินเข้าไปในหมู่บ้านที่ยุโรปแต่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
หนึ่งในจุดที่ไม่ควรพลาดคือ ‘โบสถ์ซางตาครู้ส’ (วัดซางตาครู้ส) หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า ‘วัดกุฎีจีน’ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อันเต็มไปด้วยวิถีชีวิตของคริสต์ศาสนิกชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นวัดคาทอลิกเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนที่ดินพระราชทานจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถาปัตยกรรมผสมผสานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงยุคเรอเนสซองส์ ภายในมีกระจกสีที่เล่าเรื่องราวของศาสนาคริสต์ และในเทศกาลนี้คือโอกาสพิเศษที่จะได้ฟังระฆังการิย็อง ระฆังชุดอายุนับร้อยปีซึ่งจะบรรเลงบทเพลงเสริมบรรยากาศให้รื่นเริงมากยิ่งขึ้น
ดำเนินรายการ : ต้า-ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
จัดอันดับจานโปรดประจำปี 2024 ของ เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ และ เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ 10 จานที่ทำเองตลอดปี และอีก 10 จานฝีมือร้านอาหารอื่น ๆ ที่ชื่นชอบ พร้อมทั้งวิเคราะห์รสชาติและวิธีทำที่ทำให้อาหารจานนั้นเป็นจานออกรสแห่งปีนี้
ดำเนินรายการ : เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ และ เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ
Comments
Top Podcasts
The Best New Comedy Podcast Right Now – June 2024The Best News Podcast Right Now – June 2024The Best New Business Podcast Right Now – June 2024The Best New Sports Podcast Right Now – June 2024The Best New True Crime Podcast Right Now – June 2024The Best New Joe Rogan Experience Podcast Right Now – June 20The Best New Dan Bongino Show Podcast Right Now – June 20The Best New Mark Levin Podcast – June 2024