เข้าใจทุกข์จะพ้นทุกข์ [6731-7q]
Description
Q : ขณะนั่งสมาธิ รู้สึกเคลิ้ม ลืมคำภาวนา ลืมลมหายใจ
A : ลืม เผลอ เพลิน คือการขาดสติ แต่ถ้ารู้ว่าดับ เห็นอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั่นคือมีสติ
Q : ขณะกำหนดจิตบริกรรมพุทโธ ระหว่างนั้นครูบาอาจารย์ท่านก็พูดสอนอยู่ด้วย ควรกำหนดสติไว้กับอะไร?
A : ตั้งสติไว้ตรงช่องทางที่เสียง ที่จะเข้ามาสู่หูเรา เอาจิตไว้ที่โสตวิญญาณ คือ การรับรู้ทางเสียงนั้น
Q : ถ้าปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ (หลุดพ้น) ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอีก ถูกต้องหรือไม่?
A: คำว่า "ไม่ต้องปฏิบัติอีก" สำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า “การเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ควรทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” เรียกว่า “วิมุตติญาณทัสสนะ” คือ ไม่ต้องปฏิบัติเพื่อให้บรรลุแล้วเพราะพ้นได้แล้ว แต่ยังคงต้องรักษาศีล เจริญมรรค 8 อยู่ เพื่อรักษาสภาวะนี้ เพื่อให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
Q : เข้าฌาน 1 แล้วพิจารณากายนี้ ถือว่าเป็นวิตกวิจารหรือเป็นวิปัสสนาแล้ว?
A : ฌาน 1 ยังมีวิตกวิจาร หากพิจารณากายบุคคลอื่น ในลักษณะที่เป็นภาพ เสียง ถือว่าเป็น วิตกวิจาร แต่หากพิจารณากายแล้วเห็นความไม่เที่ยงในกาย นั่นเป็นวิปัสสนา คือ เหนือจากฌาน 1 ขึ้นไป
Q : วิธีต่อสู้กับกิเลส ที่เมื่อตื่นนอนขึ้นมาควรลุกทันที แต่ทำไม่ค่อยได้?
A : ให้เราฝึกตั้งแต่ก่อนนอน ขณะที่อยู่ในอิริยาบถนอน แล้วตั้งสติไว้ว่า “รู้สึกตัวเมื่อไหร่ จะลุกขึ้นทันที จะไม่ยินดีในการเคลิ้มหลับ จะไม่ยินดีในการนอน” แล้วน้อมจิตไปเพื่อการนอน ตั้งสติไว้ว่า “บาปอกุศลอย่าตามเราไป ผู้ที่นอนหลับอยู่” ทำบ่อย ๆ จะพัฒนาขึ้นได้
Q : ทุกข์ของพระพุทธเจ้าคืออะไร แล้วทุกข์ที่เราเจอ ใช่ตัวเดียวกันหรือไม่?
A : ทุกข์ของพระพุทธเจ้าตอนที่เป็นโพธิสัตว์นั้น ก็เป็นทุกข์เดียวกันกับเรา ทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากสิ่งที่น่าพอใจ พบเจอกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจไม่น่าปรารถนา พอท่านพบว่า เหตุที่เกิดทุกข์คือการเกิด จะทำให้ทุกข์นี้ดับไป ก็ต้องดับการเกิด ท่านจึงปฏิบัติตามมรรค 8 ทุกข์ก็ดับไป พ้นจากทุกข์ได้ ส่วนหากถามถึงทุกข์ตอนที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแล้วนั้น ท่านทรงพ้นจากทุกข์แล้ว เพราะค้นพบทางพ้นทุกข์ ทุกข์จึงดับไป
Q : เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เสียชีวิตไปแล้ว จะไปดีหรือไม่?
A : จะรู้ข้อนี้ได้ต้องมีจุตูปปาตญาณ
Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.