TK Podcast

สารพันเรื่องราวว่าด้วยพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์และการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จุดประกายแนวคิดว่าด้วยอนาคตห้องสมุดและการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

Knowledge Exchange EP.61 “Why is ‘making change’ cool in Cologne City Library?” (Hannelore Vogt)

ห้องสมุดประชาชนเมืองโคโลญจน์ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงหนังสือและการอ่าน เครือข่ายห้องสมุดประกอบไปด้วยห้องสมุดกลาง ห้องสมุดสาขาย่อยอีก 11 แห่ง และ MINIBIB หรือห้องสมุดขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีรถห้องสมุด และจักรยานไฟฟ้าซึ่งทำหน้าที่เป็นเมกเกอร์สเปซเคลื่อนที่ให้บริการคนในชุมชน . ฮันเนลอร์ โวกท์ ผู้อำนวยการห้องสมุด ตระหนักดีว่าบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อรองรับผู้ใช้รุ่นเยาว์ที่พฤติกรรมการใช้งานแตกต่างไปจากเดิม ห้องสมุดประชาชนเมืองโคโลญจน์ จึงทำหน้าที่เสมือนเป็น ‘เมกเกอร์สเปซ’ คือไม่เพียงแต่ให้พื้นที่เพื่อส่งเสริมการอ่าน เขียน เรียนรู้ ทำกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานห้องสมุดได้ทดลองลงมือทำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้และสร้างสรรค์ร่วมกัน เปลี่ยนแนวคิดในการทำงานจาก Lifelong Learning เป็น Lifelong Participation . ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่ห้องสมุดประชาชนเมืองโคโลญจน์คือ กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่มีธีมใหม่ๆ มาดึงดูดความสนใจนักอ่าน กิจกรรมการเรียนรู้ด้าน STEM ที่รองรับผู้สนใจทุกระดับ ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงวัยทำงานตอนต้น MINT Festival ที่รวมกิจกรรมการเรียนรู้สาย STEM กว่าร้อยรายการ นิทรรศการเคลื่อนที่ที่ย้ายไปจัดในห้องสมุดสาขาต่างๆ โดยทุกกิจกรรมให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ . ห้องสมุดประชาชนเมืองโคโลญจน์ มีทีมงานกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 7-8 คน ที่ทำหน้าที่คิดโปรเจกต์ทดลองที่ทันยุคสมัย โดยทีมงานกลุ่มนี้จะได้รับงบประมาณจำนวนหนึ่งจากห้องสมุด เพื่อลงมือทำโครงการที่ริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะคติในการทำงานคือ “เมื่อผู้อื่นเริ่มลงมือทำ เราก็ถึงจุดที่เริ่มแก้ไขปัญหาแรกเรียบร้อยแล้ว”

12-26
27:20

Knowledge Exchange EP.60 The Europe Challenge – Learnings from Libraries and Communities in Europe

มูลนิธิวัฒนธรรมยุโรป (The European Cultural Foundation) ริเริ่มโครงการ The Europe Challenge ที่ส่งเสริมให้ห้องสมุดและชุมชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โครงการที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 10,000 ยูโร รวมถึงคำปรึกษาและการอบรมพิเศษ มีห้องสมุดและชุมชนต่างๆ เข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 100 แห่ง ทั้งห้องสมุดขนาดใหญ่ ห้องสมุดในเรือนจำ ห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดที่อยู่บนเกาะห่างไกล ยกตัวอย่างเช่น . โครงการ #HACK โดยห้องสมุดอาร์ฮุสและกลุ่มเยาวชนในเมืองโรเซแลร์ ประเทศเบลเยียม เป้าหมายคือการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นให้มากขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยมี ‘ฮีโร่ท้องถิ่น’ หรือเยาวชนอายุ 16-24 ปี ที่มีทักษะหลากหลายตั้งแต่โปรดิวเซอร์เพลงจนถึงนักออกแบบกราฟิก มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับเยาวชนอื่นๆ ผู้เข้าร่วมโครงการสะท้อนว่า ได้เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกันและกัน รู้สึกใกล้ชิดกับห้องสมุด เสริมสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น . โครงการ Restart and Repair โดยห้องสมุดประชาชนคอนเซสซิโอร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในประเทศอิตาลี มีเป้าหมายคือลดปริมาณขยะจากการบริโภคที่เกินพอดี ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้ซ่อมแซมสิ่งของ และถ่ายทอดความเชี่ยวชาญด้านงานช่างในชุมชน จึงเกิดปาร์ตี้ ‘restart’ เดือนละครั้ง เพื่อเป็นที่นัดพบของอาสาสมัครและผู้ใช้งานห้องสมุดที่ต้องการซ่อมแซมของใช้ในบ้าน เมื่อดำเนินโครงการได้ประมาณ 1 ปี จัดงานไปแล้ว 15 ครั้ง มีผู้ร่วมงานเกือบ 500 คน ถือว่าช่วยชุมชนลดจำนวนขยะและประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก . โครงการ Co-creating Healthcare Solution โดยห้องสมุด เดอ ครูก ร่วมกับ Comon ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักสร้างสรรค์ จากเมืองเกนต์ ประเทศเบลเยียม ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ จัดกิจกรรม Make-a-ton สำรวจปัญหา ระดมความคิดกับชุมชนจนได้โจทย์ “เราจะทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายสำหรับชาวเมืองได้อย่างไร?” . นักเรียนนักศึกษาพัฒนางานต้นแบบ และเปิด Experiment Café ให้ประชาชนและกลุ่มผู้ใช้ห้องสมุดได้ทดลองใช้ จนได้ผลิตภัณฑ์ที่นำไปพัฒนาต่อได้ 4 ชิ้นคือ Dolox สมาร์ทวอทช์ที่เป็นนาฬิกาตรวจจับระดับความเจ็บปวด RingMe โปรแกรมช่วยสื่อสารสำหรับคนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาให้เตรียมตัวพบแพทย์ได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น Spexter ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ExplainMed แอปพลิเคชันแปลรายงานทางการแพทย์ให้เป็นคำพูดที่เข้าใจได้ง่ายMia เว็บไซต์ช่วยค้นหาคำแนะนำทางจิตวิทยาที่เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคน

11-29
30:38

Coming to Talk EP.62 ห้องสมุดชุมชนกับการสร้างการเปลี่ยนแปลง

ห้องสมุดในบางประเทศได้รับการส่งเสริมสนับสนุนด้านงบประมาณและการสร้างเครือข่ายจากนโยบายระดับประเทศ ระดับเมือง หรือบางครั้งก็ระดับนานาชาติ แม้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย นโยบาย หรือแผนแม่บทที่ช่วยกำหนดทิศทางและสนับสนุนการทำงานของห้องสมุดอย่างเป็นรูปธรรม แต่ห้องสมุดหลายแห่งก็ปรับภารกิจเป็นเชิงรุก มุ่งทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มต้นจากกิจกรรมเล็กๆ ง่ายๆ ใช้ทรัพยากรที่ห้องสมุดมี ร่วมกับน้ำพักน้ำแรงของเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคมรอบข้าง . ห้องสมุดรังไหม - พาคาราวานหนอนหนังสือและทีมงานปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ห่างไกล จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลายให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงการเรียนรู้ . ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์ - จากหนังสือหนึ่งคันรถและแมวหนึ่งฝูง สู่ห้องสมุดเล็กๆ ที่กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ ชวนเด็กๆ มาเรียนรู้จากกิจกรรม เช่น สำรวจผืนป่าที่เป็นเหมือนห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ . ห้องสมุดยับเอี่ยนฉ่อย – ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ในย่านเมืองเก่าสงขลา เปิดกว้างให้ผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่มาร่วมดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ สานต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้คงอยู่

10-24
55:21

Knowledge Exchange EP. 59 Sparking Curiosity through Spirals of Inquiry

“หากต้องการสร้างเด็กให้เป็นคนช่างสงสัย พวกเขาต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ใคร่รู้” . นี่คือ ข้อเสนอของ ดร.จูดี้ ฮัลเบิร์ต และ ดร.ลินดา เคเซอร์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายการศึกษาแบบสืบเสาะและการศึกษาพื้นถิ่น (NOIIE) ประเทศแคนาดา ทั้งคู่เคยสอนหนังสือและดำรงตำแหน่งครูใหญ่ในโรงเรียนมัธยมก่อนที่จะย้ายมาทำงานสายวิชาการที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย จึงมีประสบการณ์ด้านการศึกษาถึงกว่า 23 ปี . ทั้งคู่ร่วมกันเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Inquiry-based Learning หลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ The Spiral Playbook ซึ่งแนะนำ ‘เกลียวแห่งการสืบเสาะ’ (The Spiral of Inquiry) เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้สอนหันมาทบทวนว่า วัตถุประสงค์ในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนคืออะไร ผู้เรียนต้องการอะไร ผู้สอนต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติม และต้องทำอย่างไรถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง กล่าวง่ายๆ คือการนำกระบวนการสืบเสาะมาใช้ออกแบบการสอนที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่นั่นเอง . ฟังการบรรยายเรื่อง “Sparking Curiosity through Spirals of Inquiry” โดย ดร.จูดี้ ฮัลเบิร์ต และ ดร.ลินดา เคเซอร์ ผู้อำนวยการเครือข่ายการศึกษาแบบสืบเสาะและการศึกษาพื้นถิ่น (NOIIE) ประเทศแคนาดา บันทึกจากงานสัมมนาสาธารณะ ‘Inquiry-based Learning ปลุกความสงสัย จุดไฟการเรียนรู้ตลอดชีวิต’

09-27
39:21

Knowledge Exchange EP.58 Growing NLB’s Volunteer Community at library@chinatown and Beyond

ห้องสมุดทั่วสิงคโปร์นอกจากดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่แล้ว ยังได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัคร ซึ่งมีบทบาทด้านการดูแลพื้นที่ แนะนำการใช้งาน และจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเล่านิทานซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด . ‘อาสาดูแล’ คือโมเดลที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริการห้องสมุดแบบ 100% และ library@chinatown คือห้องสมุดแห่งแรกที่เริ่มใช้โมเดลอาสานี้มาดำเนินงาน โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำ แต่การบริหารจัดการและการให้บริการทั้งหมดดำเนินงานโดยทีมงานอาสาสมัคร . ตัวอย่างโครงการซึ่งห้องสมุดสิงคโปร์ทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ได้แก่ KidsREAD โครงการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กอายุ 4-8 ปี ที่ด้อยโอกาสทั่วประเทศ ทีมอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน ช่วยทำกิจกรรมกับเด็กๆ สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพียงปีเดียว โครงการนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้ามากกว่า 3,200 คน . หัวใจสำคัญในการทำงานร่วมกับอาสาสมัครคือการสร้างความสัมพันธ์และบ่มเพาะความรู้สึกเป็นเจ้าของห้องสมุด กรณี library@chinatown มีป้ายประกาศอย่างชัดเจนว่า ห้องสมุดแห่งนี้ดำเนินงานโดยอาสาสมัคร พวกเขามีเครื่องแบบเพื่อแสดงตัวตนและสร้างความภาคภูมิใจ ห้องสมุดยังจัดพื้นที่พักผ่อนและพูดคุย รวมทั้งจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองตามวาระโอกาสต่างๆ ให้กับอาสาสมัคร . ฟัง...การบรรยายเรื่อง “Growing NLB’s Volunteer Community at library@chinatown and Beyond” บรรยายโดย เมลิสซ่า คาวาโซ (Melissa Kawasoe) ผู้จัดการห้องสมุดกลาง และ library@chinatown และ ลินเน็ตต์ คัง (Lynnette Kang) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือ NLB ประเทศสิงคโปร์ บันทึกในโอกาสการประชุม TK FORUM 2023 “Library Possible: The Creative Solutions for Better Library Service”

06-28
17:54

Knowledge Exchange EP.57 Book-Exchange Networks: Connecting Community with Readers

เมื่อปี 2009 ชายชื่อว่า ท็อด โบล ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา สร้างกล่องหนังสือใบเล็กๆ วางไว้ละแวกบ้านเพื่อเป็นเกียรติแก่มารดาของเขา สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย จนเกิดเป็นโครงการ Little Free Library หรือ ‘ตู้ปันอ่าน’ ปัจจุบันตู้หนังสือลักษณะนี้ขยายตัวออกไปทั่วโลก จนมีมากกว่า 150,000 แห่ง ใน 115 ประเทศ แม้กระทั่งกลางดินแดนน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ . Little Free Library เชื่อว่า ทุกคนควรได้อ่านหนังสือที่ตัวเองอยากอ่าน โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนักหรือรอให้เป็นโอกาสพิเศษ บทบาทขององค์กรจึงเกี่ยวข้องกับการขยายโอกาสการเข้าถึงหนังสือ และสร้างแรงบันดาลใจในการอ่าน ด้วยการสนับสนุนให้อาสาสมัครเป็นกลไกสำคัญในการทำงานกับชุมชน . อาสาสมัคร ถูกเรียกกว่า ‘สจ๊วต’ หมายถึงคนในท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลความเรียบร้อยของห้องสมุด จัดหาหนังสือ และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน หลายคนอาจเข้าใจว่า “สร้างห้องสมุดไว้ เดี๋ยวคนก็มาเอง” แต่ความเป็นจริงไม่มีทางเป็นอย่างนั้น สจ๊วตอาจจะเดินเคาะประตูตามบ้าน เดินแจกใบปลิว หรือใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ว่า ตอนนี้ละแวกบ้านมีตู้หนังสือให้บริการแล้ว . ทำเลการตั้งตู้หนังสือเป็นไปได้หลากหลาย บางครั้งตั้งอยู่หน้าโรงเรียนเพื่อช่วยให้ผู้ปกครองเลือกหยิบหนังสือไปอ่านกับลูกหลังเลิกเรียน ตั้งไว้หน้าสถานีตำรวจเพื่อสร้างภาพลักษณ์เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะหรือห้างร้านเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ แม้แต่ห้องสมุดประชาชนบางแห่งก็ตั้งตู้หนังสือไว้ในชุมชน เพราะประหยัดงบประมาณกว่าการทำห้องสมุดเคลื่อนที่ สจ๊วตจะพิจารณาคัดเลือกหนังสือโดยคำนึงถึงลักษณะของชุมชนนั้นๆ เช่น หากมีประชากรวัยเด็กจำนวนมากก็จะเลือกหนังสือนิทานไว้ให้บริการ . Little Free Library ได้รับรางวัลองค์กรการรู้หนังสือ จากสภาการรู้หนังสือโลก ผู้สนใจทำตู้ปันอ่านสามารถสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายทางเว็บไซต์ littlefreelibrary.org เมื่อห้องสมุดแต่ละแห่งเข้าไปปักหมุดของตนไว้ในแผนที่ ผู้ใช้บริการทั่วโลกก็จะสามารถค้นหาทรัพยากรการอ่านที่อยู่ใกล้ตัวได้ง่าย . ฟัง... การบรรยายเรื่อง “Book-Exchange Networks: Connecting Community with Readers for Everyday Book Access” โดย เกร็ก เมตซเกอร์ (Greig Metzger) ผู้อำนวยการบริหาร Little Free Library สหรัฐอเมริกา บันทึกในโอกาสการประชุม TK FORUM 2023 “Library Possible: The Creative Solutions for Better Library Service”

05-31
23:09

KnowledgeExchange EP 56. Residents - Tourists Sharing, Beautiful Life Enjoying - Practice...

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนเปิดตัวห้องสมุดหลายแห่งซึ่งสร้างกระแสฮือฮาในโลกอินเทอร์เน็ต ห้องสมุดกลายเป็นหมุดหมายห้ามพลาดสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว เงื่อนไขสำคัญคือ ในปี 2018 กระทรวงวัฒนธรรมและสำนักการท่องเที่ยวของจีน ได้ถูกควบรวมเป็นหน่วยงานเดียวกันชื่อว่า กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งชาติ ทำให้เกิดการบูรณาการกันอย่างกลมกลืนระหว่างสถาบันด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในภูมิทัศน์แบบใหม่ . สถิติ ปี 2019 ระบุว่า จำนวนคนเข้าห้องสมุดมีมากกว่าจำนวนคนซึ่งไปสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมถึง 2 เท่า ห้องสมุดมีข้อได้เปรียบด้านการเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรต่างๆ และสามารถช่วยเสริมสร้างบริการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้แข็งแกร่ง ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านห้องสมุดมากขึ้น กรณีที่น่าสนใจ ได้แก่ ห้องสมุดซิ่วโจว ห้องสมุดฉิงเหอ และห้องสมุดคุนหมิง . ดัชนีหรือองค์ประกอบความสำเร็จในการเชื่อมโยงห้องสมุดกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว สามารถจำแนกได้เป็น 4 ด้าน ด้านแรก สิ่งดึงดูดใจด้านธรรมชาติหรือกายภาพ เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อาคาร สถาปัตยกรรม ด้านที่สอง สิ่งดึงดูดใจเกี่ยวกับตัวบุคคล เช่น บุคคลมีชื่อเสียงในอดีต นักปราชญ์ นักเขียน เซเลบริตี้ ถัดมาคือ สิ่งดึงดูดใจเชิงสังคม คือ การบูรณาการห้องสมุดเข้ากับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ห้องสมุดร่วมมือกับที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว หรือสายการบิน จัดทำคอลเลกชันพิเศษเพื่อให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวหรือบริการ และด้านสุดท้ายคือ สิ่งดึงดูดใจจากการให้บริการ เช่น การจัดกิจกรรม ให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว จุดชมทิวทัศน์ . ฟัง… การบรรยายเรื่อง “Residents - Tourists Sharing, Beautiful Life Enjoying - Practice, Experience and Prospect for the Integrated Development of Library and Tourism” บรรยายโดย ดร. หยาง หลี่ (Asst. Prof. Yang Li) อาจารย์สาขาการศึกษาและวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหางโจวเตี้ยนจื่อ ประเทศจีน บันทึกในโอกาสการประชุม TK FORUM 2023 “Library Possible: The Creative Solutions for Better Library Service”

04-26
18:25

KnowledgeExchange EP. 55 ตลาดหนังสือไทย อะไรเป็นอุปสรรคการเข้าถึงการอ่าน

หนังสือราคาแพงเกินไปหรือไม่? . หนังสือในตลาดมีความหลากหลายมากพอไหม? . นี่คือสองประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาเอ่ยถึง เมื่อมีการตั้งคำถามว่า “คนไทยมีโอกาสเข้าถึงหนังสือได้มากน้อยแค่ไหน” และ “อะไรคืออุปสรรคในการเข้าถึงหนังสือ” . สื่ออิเล็กทรอนิกส์ Data Storytelling ชุด “LOOK AROUND THE SHELF” รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาดหนังสือของไทยในฝั่งผู้ผลิตมานำเสนอให้เข้าใจง่าย เริ่มด้วยการนำข้อมูลมาอธิบายพฤติกรรมการอ่าน แม้ยอดขายหนังสือจะมีขึ้นลงตามปัจจัยที่ต่างกันไปในแต่ละปี แต่แนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือ คนไทยอ่านหนังสือเล่มลดลง . ตามมาด้วยการเจาะประเด็นความหลากหลายในเชิงหมวดหมู่หนังสือ ที่ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า นวนิยาย การศึกษา และหนังสือเด็ก ครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดมานานหลายปี แม้หลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะบ่งบอกว่า มีความหลากหลายของเนื้อหาหรือไม่ . ประเด็นสำคัญคือ ราคาหนังสือ ที่ในภาพรวมถือว่าสูงเมื่อนำมาเทียบกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถตัดสินใจซื้อหาได้ทันที โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดราคาคือขนาดของสำนักพิมพ์ . ในเมื่อมีปัจจัยราคาเป็นโจทย์สำคัญ ภาคส่วนต่างๆ ควรทำอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงหนังสือและการอ่านได้อย่างเท่าเทียม? . ฟัง “ตลาดหนังสือไทย อะไรเป็นอุปสรรคการเข้าถึงการอ่าน” โดย วัฒนชัย วินิจจะกูล รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ บันทึกในโอกาสงานเสวนาและเปิดตัวสื่อ อิเล็กทรอนิกส์ Data Storytelling ชุด “LOOK AROUND THE SHELF”

02-23
50:11

Knowledge Exchange EP. 54 To Reside in Creativity: UTS Library Creative in Residence

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (UTS) มีแต่อาคารเรียน ไม่มีพื้นที่ว่างและสวน ส่วนห้องสมุดตั้งอยู่นอกมหาวิทยาลัย โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้นักศึกษาเดินทางไปใช้บริการห้องสมุด โครงการ ‘นักสร้างสรรค์ในพำนัก’ ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มศิลปิน เข้ามาร่วมออกแบบ แก้ปัญหา หรือพัฒนาห้องสมุดให้มีภาพลักษณ์อบอุ่นและเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น . โครงการนี้ดำเนินมาแล้วประมาณ 10 ปี แต่ละปีจะมีการตั้งธีมแตกต่างกัน และเปิดรับสมัครผู้สนใจโดยไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัย คณะกรรมการจะพิจารณาคุณสมบัติจากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ประกอบกับพอร์ตโฟลิโอแสดงผลงาน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุน 10,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ค่าวัสดุปกรณ์ พื้นที่ทำงานในห้องสมุด และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ เป็นระยะเวลา 6 เดือน . เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว นักสร้างสรรค์ทั้งหลายจะได้รับรายการ ‘ปัญหาและความต้องการ’ จากห้องสมุด เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์มากที่สุด ที่ผ่านมามีรูปแบบผลงานมากมาย เช่น เก้าอี้ซึ่งได้รับการออกแบบเฉพาะสำหรับห้องสมุด UTS การตกแต่งพื้นที่มุมอับเพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น แผนที่ระบุชนิดพันธุ์พืช หรือแม้กระทั่งการทาสีตกแต่งห้องสมุดตามรหัสสีสอดคล้องกับระบบทศนิยมดิวอี้ เพื่อให้ผู้ใช้งานค้นหาหนังสือได้ง่ายขึ้น . คุณค่าของโครงการ ‘นักสร้างสรรค์ในพำนัก’ คือ ห้องสมุดได้ผู้มีศักยภาพมาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันศิลปินก็มีโอกาสผลิตผลงานตามจินตนาการ โดยได้รับความสะดวกอย่างครบครัน และสามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่าในอนาคต . ฟัง… การบรรยายเรื่อง “To Reside in Creativity: UTS Library Creative in Residence” บรรยายโดย ไมเคิล กอนซาเลซ (Michael Gonzalez) หัวหน้าบรรณารักษ์ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (UTS) ประเทศออสเตรเลีย บันทึกในโอกาสการประชุม TK FORUM 2023 “Library Possible: The Creative Solutions for Better Library Service”

01-19
23:43

Knowledge Exchange EP.53 The Role of Public Libraries in the Small Business Ecosystem

สมาคมห้องสมุดอเมริกันได้ริเริ่มโครงการ “Library Build Business” ในปี 2020 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการทั่วประเทศ โครงการนี้เชื่อว่า หากผู้ที่ต้องการตั้งเนื้อตั้งตัวเข้าถึงทรัพยากรที่พวกเขาต้องการ ก็จะสามารถสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อนั้นชุมชนท้องถิ่นก็จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวด้วย . โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “google.org” มีห้องสมุดนำร่องร่วมโครงการ 13 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บริการทรัพยากรและปัจจัยที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการ ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานสามารถช่วยเหลือสมาชิกเกือบ 15,000 คน ทั้งธุรกิจที่ตั้งอยู่ในชุมชนขนาดใหญ่ ชนบท และชนเผ่า . โมเดลการดำเนินงานประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การจัดการทรัพยากรให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและธุรกิจ มองหาพันธมิตรที่ช่วยทำให้โครงการเข้มแข็งขึ้น และสร้างระบบนิเวศธุรกิจขนาดเล็ก โดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ . ประสบการณ์จากการดำเนินงานทั้งหมดถูกถ่ายทอดไว้ในหนังสือ “Libraries that Build Business: Advancing Small Business and Entrepreneurship in Public Libraries” และคู่มือ “Libraries Build Business Playbook” เนื้อหาว่าด้วยชุมชนห้องสมุดที่มาร่วมแบ่งปันแนวทางปฏิบัติ ว่าจะจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างไร . ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่อาจจะมีโจทย์ไม่เหมือนกัน เช่น บางแห่งอาจต้องการความช่วยเหลือด้านไอที หรือการเขียนโค้ด ขณะที่บางแห่งอาจต้องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ประกอบการด้วยกัน . ฟัง… การบรรยายเรื่อง “The Role of Public Libraries in the Small Business Ecosystem” บรรยายโดย เมแกน จานิกกี (Megan Janicki) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ สมาคมห้องสมุดอเมริกัน สหรัฐอเมริกา บันทึกในโอกาสการประชุม TK FORUM 2023 “Library Possible: The Creative Solutions for Better Library Service”

12-29
18:34

KnowledgeExchange EP.52 กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านนิเวศการเรียนรู้ อาทิ จำนวนหนังสือที่มีอยู่ในแต่ละบ้าน และการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กๆ ครอบครัวที่มีฐานะดีกว่าสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากกว่าครอบครัวที่ยากจน และหนังสือมีราคาสูง ในขณะที่งบประมาณที่ใช้สำหรับพัฒนาเรื่องการเรียนรู้กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง . โจทย์ดังกล่าวนำไปสู่ข้อเสนอเรื่อง ‘กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ’ ซึ่งมีกรอบงบประมาณร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท แบ่งสำหรับการศึกษาในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ซึ่งได้แก่ด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ เวิร์กชอปการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะอาชีพใหม่ๆ รวมทั้งงบประมาณรายหัวสำหรับสนับสนุนให้นักเรียนและครูเลือกเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ตามที่ตนเองสนใจ . หลักการสำคัญของกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ ประกอบด้วย การเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเพียงในโรงเรียนแต่ครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเน้นการกระจายอำนาจในการจัดการให้ผู้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ และการให้ผู้เรียนมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นในการเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง . ฟัง… การบรรยายเรื่อง “กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ” บรรยายโดย ดร. เดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2022 หัวข้อ “Learning City and Lifelong Learning Ecosystem”

11-30
30:24

KnowledgeExchange EP. 51 ระบบนิเวศการเรียนรู้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกการงานอาชีพและทักษะใหม่

โลกเศรษฐกิจไทยในอนาคตกำลังมีความเปลี่ยนแปลงไปใน 3 รูปแบบ คือ โลกเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โลกเศรษฐกิจใส่ใจ ซึ่งเน้นเรื่องของสุขภาพกายและใจ และโลกเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเน้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม . โลกใหม่ต้องการแรงงานที่มีทักษะแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คนจำนวนหนึ่งอาจตกงาน ในขณะที่บางงานเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ช่างซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ นักจิตวิทยา นักเทคนิคด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ นักการตลาดสีเขียว ฯลฯ การรู้ลึกเพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แรงงานในอนาคตจะต้องมีทั้งความรู้ลึก รู้กว้าง มีความสามารถในการวิเคราะห์และคิดเชื่อมโยง . TDRI ได้วิจัยถึงทักษะแรงงานที่ผู้ประกอบการทั่วประเทศต้องการ พบว่า นอกจากทักษะวิชาชีพแล้ว นายจ้างยังต้องการทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะดิจิทัล ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ รวมทั้ง Soft Skill ต่างๆ เช่น ความสามารถในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การมีความคิดสร้างสรรค์ การมีความเป็นมืออาชีพ และความสามารถในการปรับตัว . ในขณะที่ ผลการสำรวจของ World Economic Forum และ SEA พบว่า หนุ่มสาวในประเทศไทย 30% เชื่อว่าทักษะที่ตนเองมีอยู่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับการสำรวจของ OECD ที่พบว่า เด็กไทยกว่า 40% ขาด Growth Mindset คือไม่เชื่อว่าสติปัญญาและความสามารถของตนเองเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจะส่งผลให้คนรุ่นใหม่ไม่เห็นความจำเป็นในการปรับตัวหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต . โจทย์ที่สำคัญของประเทศไทยคือ สถาบันการศึกษาไม่สามารถผลิตผู้เรียนให้มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นเพราะสถาบันการศึกษามีรายได้ส่วนใหญ่มาจากงบประมาณของรัฐ จึงไม่ต้องรับผิดรับชอบต่อการจัดการศึกษา และผู้เรียนขาดข้อมูลว่าสถาบันการศึกษาที่จะเลือกเรียนต่อ สามารถผลิตบัณฑิตที่มีงานทำในอัตรามากน้อยเพียงใด แนวทางในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การสร้างความรับผิดรับชอบของสถาบันการศึกษาให้มีมากขึ้น และขยายโอกาสของคนไทยในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ . ฟัง… การบรรยายเรื่อง “ระบบนิเวศการเรียนรู้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกการงานอาชีพและทักษะใหม่” บรรยายโดย ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2022 หัวข้อ “Learning City and Lifelong Learning Ecosystem”

10-31
38:51

KnowledgeExchange EP.50 Smart City, Smart Learning เมืองอัจฉริยะและรูปแบบการเรียนรู้หลังยุคโควิด

“ถ้าเมืองฉลาดแต่คนไม่ฉลาด ก็คงไปด้วยกันไม่ได้ ขณะเดียวกัน ถ้าคนฉลาดแต่เมืองไม่ได้รับการพัฒนาให้ฉลาดด้วย ก็คงมีปัญหาไม่แพ้กัน การจะรักษาข้อดีของเมืองให้คงอยู่ และแก้ไขข้อเสียของเมืองให้หมดไป ต้องมีคนที่กล้าคิด กล้าทำ และฉลาดขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นการเรียนรู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองฉลาดขึ้น” . อิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลรวมทั้ง COVID-19 ได้ผลักดันให้โลกใบนี้มีลักษณะแบบ Convergence คือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและดิจิทัลรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้มนุษย์สามารถมีรูปแบบชีวิตได้ตามที่ตนต้องการ โดยไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งที่เป็นกายภาพเสมอไป รวมทั้งมีส่วนช่วยเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ให้ดีกว่าเดิม . จากแนวคิดเรื่อง ‘Flow’ ของนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน-ฮังกาเรียน Mihaly Csikszentmihalyi ซึ่งเสนอว่า มนุษย์จะเรียนรู้ได้เร็ว ลื่นไหล และทำสิ่งต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเกิดความสมดุลระหว่างระดับความยากของงานและระดับทักษะที่ตนมี แนวคิดนี้สามารถประยุกต์เป็นแนวทางเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ชาญฉลาด ได้แก่ การเอาตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ (Immersive) การเรียนรู้โดยเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การใช้เทคนิคของเกมในการเรียนรู้ (Gamification) และการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถช่วยเติมเต็มการเรียนรู้เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น . ในอนาคต เทคโนโลยีจะยิ่งก้าวไปไกล และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ เช่น Metaverse, AR, VR สินทรัพย์ดิจิทัล NFT ฯลฯ ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมคนให้มีทักษะความรู้ที่เท่าทัน สนับสนุนให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่บนพื้นฐานของนวัตกรรม มีการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยไซเบอร์ และสนับสนุนการเติบโตของเทคโนโลยีที่หลอมรวมระหว่างโลกความเป็นจริงและก็โลกเสมือน . อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วก็มีบทบาทเป็นเพียงเครื่องมือไปสู่เป้าหมายที่หวังไว้ มนุษย์ควรเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม โดยคำตอบที่ได้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นดิจิทัลเสมอไป . ฟัง… การบรรยายเรื่อง “Smart City, Smart Learning เมืองอัจฉริยะและรูปแบบการเรียนรู้หลังยุคโควิด” บรรยายโดย ดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart City สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2022 หัวข้อ “Learning City and Lifelong Learning Ecosystem”

09-29
38:25

WanderingBook EP.42 ‘พุทธศาสนาแบบเป็นวิทยาศาสตร์ฯ’ เพราะพุทธไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ต้น

สังคมไทยถูกอบรมบ่มสอนว่าพุทธศาสนามีความเป็นวิทยาศาสตร์ ช่วยสร้างความภูมิอกภูมิใจในศาสนาพุทธของคนไทยมิใช่น้อย ถึงขนาดกล่าวว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยาถูกค้นพบมาก่อนแล้วเมื่อ 2,500 ปีก่อน ซ้ำยังมีความละเอียดลึกซึ้งกว่า . ‘พุทธศาสนาแบบเป็นวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย การสืบสวนค้นคว้าทางประวัติศาสตร์’ โดยทวีศักดิ์ เผือกสม จะทำให้เราเห็นว่าความเชื่อข้างต้นมีเหตุปัจจัยทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และลัทธิจักรวรรดินิยมเข้ามาเป็นเงื่อนไขของการสร้างมันขึ้นมาอย่างไร . ศาสนาพุทธแบบเป็นวิทยาศาสตร์เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเพียงร้อยกว่าปีในสังคมไทย วิวาทะระหว่างปัญญาชนพุทธและมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ก็มีส่วนไม่น้อยต่อสิ่งนี้ อาจบางทีการรู้ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจศาสนาพุทธแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้ดีขึ้น

09-12
29:11

KnowledgeExchange EP. 49 Knowledge-based City Remaking เมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center - UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยว่าด้วยการสร้างเมืองบนฐานความรู้ โดยวิเคราะห์โอกาสและข้อจำกัดของประเทศไทยในการขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ตามแนวทางของยูเนสโก . นิยามของเมืองแห่งการเรียนรู้ แบบเข้าใจและสื่อสารง่ายๆ คือ เมืองที่ผู้คนสามารถหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยเมืองมีบทบาทสนับสนุนการจัดหาสาธารณูปการด้านการเรียนรู้ การพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อการเรียนรู้ . กรณีตัวอย่างในต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเมืองด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้ มักเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้และวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง มีอำนาจในการจัดการการเมืองของตน มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ประชาสังคมเข้มแข็ง และผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่าย . ในการประยุกต์แนวคิดเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้มาใช้ในประเทศไทย ความท้าทายที่สำคัญคือโครงสร้างการบริหารจัดการเมืองที่รวมศูนย์และแยกส่วน การตัดสินใจเชิงนโยบายสำคัญมักมาจากระดับที่สูงกว่าระดับเมือง ผลคือเกิดการกระจุกตัวของแหล่งเรียนรู้อยู่ในบางพื้นที่ นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองส่วนใหญ่มักยึดการดำเนินงานตามพันธกิจ ซึ่งอาจไม่ได้สอดคล้องกับเรื่องการเรียนรู้ รวมทั้ง ขาดแพลตฟอร์มในการเก็บแล้วและกลั่นความรู้ในระดับย่าน . ฟัง... การบรรยายเรื่อง “Knowledge-based City Remaking เมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต” บรรยายโดย ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center - UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2022 หัวข้อ “Learning City and Lifelong Learning Ecosystem”

08-30
43:23

WanderingBook EP.41 ‘คู่มือหัวใจสลาย’ อย่าปฏิเสธความโศกเศร้า เฝ้าดู และอยู่กับมัน

การสูญเสียคนรักไม่ว่าจะเป็นคู่ชีวิต ลูก พี่น้อง พ่อแม่ ล้วนนำมาซึ่งความโศกเศร้า มนุษย์เสาะแสวงหาวิธีจัดการความเศร้าโศกที่ได้ผล แต่มันไม่เคยมีวิธีใดที่เป็นคำตอบสำเร็จรูป . Julia Samuel นักจิตบำบัดด้านความเศร้า ผู้เขียน ‘Grief Works: Stories of Life, Death and Surviving’ หรือ ‘คู่มือหัวใจสลาย’ บอกเราความโศกเศร้าของผู้สูญเสียคนที่ตนรัก กระบวนการที่ความเศร้าโศกทำงานกับเรา และการโอบรับมันอย่างเข้าใจ . Julia บอกว่า “เราต้องเคารพและเข้าใจกระบวนการความเศร้า ยอมรับความสำคัญของมัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเอาชนะได้ด้วยการต่อสู้...แต่ในการเยียวยาความเศร้า เราต้องยอมให้ตัวเองรู้สึกถึงความเจ็บปวด” . เราทุกคนต่างมีวิธีรับมือกับความเจ็บปวดและจังหวะชีวิตที่ความโศกเศร้าทำงานต่างกันออกไปจึงไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อใดที่เราควรหายเศร้า

08-08
28:45

KnowledgeExchange EP. 48 Living and flourishing with change – development of Finnish libraries

รากฐานความคิดในการพัฒนาห้องสมุดและการศึกษาฟินแลนด์ มาจากคำๆ หนึ่งคือ sivistys (อ่านว่า ‘ซีวิสตุส’) เป็นคำที่มีความหมายทั้งในเชิงคุณค่าซึ่งเป็นสากลและความมีเอกลักษณ์เฉพาะในเวลาเดียวกัน อาจมีความหมายว่า Respecting Learning, Thinking, Knowing, Education, Culture, Compassion, Open-mindedness แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนความเชื่อและอุดมคติของชาวฟินแลนด์ในเรื่องของประชาธิปไตยและความเท่าเทียม โดยที่ห้องสมุดและการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของระบบคุณค่าความเชื่อนี้ . ห้องสมุดจึงเป็นบริการภาครัฐที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน (เข้าฟรี ยืมฟรี) เพื่อส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันและต่อเนื่องตลอดชีวิต ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ รวมถึงผู้อพยพลี้ภัย . นอกจากการให้บริการหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ห้องสมุดฟินแลนด์ยังใช้เป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิด (common space) พื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-working) เป็น makerspace ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือให้หยิบยืมใช้งาน เป็นพื้นที่จัดเวิร์คชอป คอนเสิร์ต และกิจกรรมมากมาย รวมไปถึงการนำเอาบริการภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนมาให้บริการแก่ประชาชนถึงในห้องสมุด อาทิ คลินิกสุขภาพแม่และเด็ก สำนักงานประกันสังคม ศูนย์เยาวชน บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและการบำบัดผู้ติดยา เป็นต้น . ห้องสมุดของฟินแลนด์ยังเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการส่งมอบข้อมูลที่เชื่อถือได้ (Reliable Information) ในยุคที่ข่าวปลอมเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และเป็นสถาบันสำคัญหนึ่งที่ให้ความรู้กับประชาชนในด้าน Digital Literacy, Media Literacy และ Information Literacy รวมถึงเป็นผู้ปกป้องการพูดและแสดงออกอย่างเสรี (Freedom of Expression and Speech) . ห้องสมุดเมืองเอสโป เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่สะท้อนถึงความสำเร็จของห้องสมุดประเทศฟินแลนด์ แนวทางในการพัฒนาห้องสมุดมิได้อยู่ที่การสร้างห้องสมุดที่มีหน้าตาสวยงาม แต่มุ่งเน้นการทำให้ประชาชนเข้าถึงห้องสมุด เป็นเมืองแรกที่ริเริ่มการตั้งห้องสมุดในห้างสรรพสินค้าซึ่งสะดวกในการคมนาคม มีการขยายเวลาเปิดปิดห้องสมุด และเปิด “Open Library” ให้สมาชิกเข้าใช้ในช่วงเวลาที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ให้บริการ . ห้องสมุดประชาชนเมืองเอสโป (Espoo City Library) ได้รับรางวัล Library of the Year 2019 จากเทศกาลหนังสือกรุงลอนดอน และในปีเดียวกัน ห้องสมุดกลางแห่งเมืองเฮลซิงกิ ‘โอดิ’ (Oodi Helsinki Central Library) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งการประกาศอิสรภาพของประเทศฟินแลนด์ จากการเป็นเมืองขึ้นของรัสเซีย ได้รับรางวัลห้องสมุดประชาชนยอดเยี่ยมประจำปี 2019 จากสหพันธ์สมาคมห้องสมุดนานาชาติ (IFLA) . ฟัง... การบรรยายเรื่อง Living and flourishing with change – development of Finnish libraries บรรยายโดย ยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโป บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2020 หัวข้อ “Finland Library and Education in the Age of Disruption”

07-31
46:58

WanderingBook EP.40 ‘พักผ่อนศาสตร์' อย่าปล่อยให้การทำงานฆ่าคุณ

การพักผ่อนก็เหมือนการกินคือคุณขาดมันไม่ได้ โลกการทำงานระบบทุนนิยมสร้างเราเป็นหนูถีบจักร ที่ต้องทำงาน ทำงาน ทำงาน จนหลงลืมว่าเราเป็นมนุษย์ที่ต้องการพักผ่อน การพักผ่อนที่ไม่ใช่เพื่อโปรดักทีฟแบบที่หนังสือแนวพัฒนาตนเองบอก . เราต้องการการพักผ่อนเพื่อพักผ่อน เพื่อปรับคันเร่งชีวิต เพื่ออยู่กับตัวเอง ‘พักผ่อนศาสตร์’ ไม่ใช่หนังสือฮาวทู มันบอกเล่า 10 กิจกรรมจากการสำรวจที่ผู้คนเห็นว่าทำแล้วรู้สึกพักผ่อนมากที่สุด แล้วผู้เขียนก็พาไปรู้จักการพักผ่อนแต่ละแบบ ตั้งคำถาม สำรวจแง่มุมต่างๆ อย่างน่าสนใจ . ที่สำคัญ จงมองหาการพักผ่อนของตัวเอง การพักผ่อนที่สอดคล้องกับชีวิต อย่าเลียนแบบใคร เพราะการพักผ่อนของคนคนหนึ่งใช่ว่าจะเหมากับคนอีกคน แล้วรู้อะไรมั้ย? การพักผ่อนที่ผู้ตอบแบบสอบถามยกให้เป็นอันดับ 1 คือการอ่าน

07-10
30:40

KnowledgeExchange EP.47 How Library Can Promote the Quality of Education

ประเทศฟินแลนด์ เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรป สามารถแก้ไขความยากจนได้โดยการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ด้วยการศึกษา กลายมาเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีและประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคน แต่สถิติการยืมหนังสือสูงถึงปีละกว่า 85 ล้านเล่ม คิดเป็นการยืมหนังสือเฉลี่ยปีละ 15 เล่มต่อคนต่อปี งบประมาณการลงทุนด้านห้องสมุดประชาชน (Public Library) เฉพาะของกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรมปีละ 320 ล้านยูโร คิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยรายหัวประมาณ 58 ยูโรต่อคนต่อปี โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการและสมทบงบประมาณเพิ่มเติมเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง ห้องสมุดประชาชนในฟินแลนด์มีจำนวน 720 แห่ง และมีรถห้องสมุดเคลื่อนที่ (Book Bus) อีก 135 คัน วิ่งไปตามเมืองต่างๆ 295 แห่งทั่วประเทศ หนังสือเด็กในห้องสมุดมีสัดส่วนประมาณ 32% ของหนังสือทั้งหมด และถูกยืมออกมากถึง 46% ของปริมาณหนังสือรวมที่มีการยืม กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในห้องสมุดที่ไม่เกี่ยวกับการอ่านและการยืมคืนหนังสือ มีคนเข้าร่วมมากถึง 950,000 คนต่อปี กฎหมายห้องสมุดประชาชนปี 2016 (Public Library Act 2016) ทำให้ห้องสมุดประชาชนคือหัวใจสำคัญของการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ บรรณารักษ์จะทำงานร่วมกับครูและโรงเรียนใกล้เคียงอย่างใกล้ชิด ดังนั้นโรงเรียนจึงไม่จำเป็นต้องมีห้องสมุดของตัวเอง นอกจากบทบาทการทำงานร่วมกับโรงเรียนแล้ว กฎหมายห้องสมุดประชาชนยังเน้นเรื่องของการเข้าถึง (accessibility) ของคนทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกกีดกัน การสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนทักษะจำเป็นที่หลากหลาย และการสร้างความเป็นพลเมืองที่แข็งขันเอาการเอางาน (active citizenship) ฟัง... การบรรยายเรื่อง How Library Can Promote the Quality of Education: The Experiences from Finland บรรยายโดย แอนนา คอร์ปิ (Anna Korpi) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ประจำสถานทูตฟินแลนด์ในสิงคโปร์ บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2020 หัวข้อ “Finland Library and Education in the Age of Disruption”

06-30
44:30

WanderingBook EP.39 ‘ประโยชน์ของความรู้ที่ไร้ประโยชน์’ จงกางปีกและโบยบิน

มีการค้นพบมากมายบนโลกใบนี้ในสาขาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปะ ปรัชญา ที่ดูเหมือนไร้ประโยชน์ แต่รู้หรือไม่ ความรู้ที่ไร้ประโยชน์เหล่านี้ขับเคลื่อนโลกและยกระดับคุณภาพชีวิตของเราให้เป็นเช่นทุกวันนี้ . หญิงชายจำนวนมากกำลังศึกษาค้นคว้าเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว โดยมิได้คำนึงถึงว่าจะนำมันไปใช้ประโยชน์อะไร มักซ์ พลังค์ (Max Planck) หรือไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) จัดเป็นคนจำพวกนี้ พวกที่ทำเพราะอยากรู้อยากเห็น แต่กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่าถ้าไม่มีพวกเขา โลกที่เราอยู่อาจมีหน้าตาต่างออกไป . รัฐที่มีวิสัยทัศน์จึงควรทุ่มเทให้กับวิจัยและพัฒนา สร้างพื้นที่ให้แก่นักวิทยศาสตร์และนักวิชาการหลากหลายสาขาตอบความสงสัยใคร่รู้โดยไม่ติดกรอบ ติดเพดาน แม้ว่าความรู้ที่ได้นั้นจะไร้ประโยชน์ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าความรู้ที่ไร้ประโยชน์เหล่านี้จะนำไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไรในอีกร้อยหรือพันปีข้างหน้า

06-13
28:27

Recommend Channels